การจงใจฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้าง

นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งใหม่โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ ลูกจ้างแจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ นายจ้างจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ลูกจ้างปฏิเสธ นายจ้างได้มีหนังสือเลิกจ้าง การที่ลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง นายจ้าง จึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง

ในกรณีที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งงานในตำแหน่งใหม่ซึ่งเป็นงานเดิมที่ลูกจ้างทำอยู่แล้ว โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือ สภาพการจ้างเหมือนเดิมแต่ปริมาณงานลดลง แต่ลูกจ้างกลับขอเวลาคิดทบทวนเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวก่อน และต่อมาลูกจ้างแจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ โดยจะทำงานในตำแหน่งเดิม นายจ้างจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ลูกจ้างปฏิเสธ นายจ้างจึงได้บอกเลิกจ้างด้วยวาจาว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งและไม่ยอมสละตำแหน่งเดิม ในวันเดียวกันในตอนบ่ายนายจ้างได้มีหนังสือเลิกจ้าง การที่ลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่โยกย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ซึ่งงานในตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าวิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงานตามสัญญาจ้างงาน การที่นายจ้างจัดองค์กรและโยกย้ายพนักงานในองค์กรให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการของนายจ้างดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ นายจ้างจึงสามารถกระทำได้ตามอำนาจในทางบริหารงานองค์กรที่ไม่ขัดกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างกันเพื่อให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ หากบุคลากรไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่แล้ว การดำเนินงานตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กรและบุคลากรทั้งหมดในองค์กรนั้น ดังนั้น เมื่อนายจ้าง มีคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ ลูกจ้างจะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง หาได้ไม่ การที่ลูกจ้างแจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ นายจ้าง จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ลูกจ้างยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง นายจ้าง จึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2549

บริษัทจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ มีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มี 26 สาขา และต้องการเพิ่มอีก 5 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงาน โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์อาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุด จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 54,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2547 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่โยกย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างเดือนสุดท้าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวม 13,617,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขัดต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารการปฏิบัติการบริการโดยได้แจ้งโจทก์ว่าหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงและกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย 416,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ มิถุนายน 2547 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดในประเทศไทย จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม เอ แอน ดับบลิว โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือนเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการตามเอกสารหมาย ล.2 พร้อมคำแปล ซึ่งงานในตำแหน่งใหม่ดังกล่าวมีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุนรวบรวมข้อมูลและเอกสารซึ่งเป็นงานเดิมที่โจทก์ทำอยู่แล้ว แต่แบ่งงานออกมาเป็นอีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้น ปริมาณงานจึงลดลงตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มีสาขารวม 26 สาขา และต้องการขยายสาขาอีก 5 สาขา รวมเป็น 31 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพงานคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือ สภาพการจ้างเหมือนเดิมแต่ปริมาณงานลดลงซึ่งโจทก์ว่าขอเวลาวันเสาร์และอาทิตย์คิดทบทวนเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวก่อน และจะมาให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ โดยจะทำงานในตำแหน่งเดิม จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามเอกสารหมาย ล.3 พร้อมคำแปล แต่โจทก์ปฏิเสธ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างด้วยวาจาว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งและไม่ยอมสละตำแหน่งเดิม ในวันเดียวกันในตอนบ่าย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 พร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.5 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า มีสิทธิได้รับจำนวน 416,000 บาท และ 52,000 บาท ตามลำดับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่โยกย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ ซึ่งงานในตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าวิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 2 มีสาขารวม 26 สาขา และต้องการขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา รวมเป็น 31 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิมทุกประการ และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงานตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย ล.1 การที่จำเลยที่ 1 จัดองค์กรและโยกย้ายพนักงานในองค์กรให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ จำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ตามอำนาจในทางบริหารงานองค์กรที่ไม่ขัดกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างกันเพื่อให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จำเลยทั้งสองจึงได้ปรับปรุงหน่วยงานและจัดบุคคลากรให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามหน่วยงานที่ปรับปรุงใหม่นั้น หากบุคลากรไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่แล้ว การดำเนินงานตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่องค์กรและบุคลากรทั้งหมดในองค์กรนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์และอาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.3 แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว กรณีไม่ต้องวินิจฉัยเรื่องดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดจ่ายค่าชดเชยเพียงใดอีกต่อไป"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด.

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US