การบังคับคดีแพ่ง

การบังคับคดีแพ่ง
ในการบังคับคดีแพ่ง ศาลต้องออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงาน กรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นใด เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อจัดการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(14)

เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคล ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน

เจ้าพนักงาน บังคับคดีหมายถึงเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับคดีตาม คำพิพากษาหรือคำสั่ง
ในส่วนกลาง เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีอำนาจบังคับคดีในเขตอำนาจของศาล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้นศาลจังหวัดมีนบุรี
ในส่วนภูมิภาค เจ้าพนักงานบังคับคดีของสำนักงานงานบังคับคดีจังหวัด สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสาขา เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีของสำนักงานบังคับคดีจังหวัด นั้น

เดิมเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานของศาล เมื่อศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีอย่างใดแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตามจะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลไม่ได้ แต่ปัจจุบันเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี สังกัดกระทรวง ยุติธรรมจึงไม่ใช่เจ้าพนักงานศาล (ทั้งนี้ตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ราชกิจจานุเบกษา 11 ตุลาคม 2540 ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม กำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นหน่วยงานธุรการอิสระของศาลยุติธรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมบังคดีเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 103 ก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2543) จึงจะใช้สิทธิคัดค้านหรืออุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลได้หรือไม่ ควรศึกษาต่อไป

อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

1. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือกักเรือของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษา เช่นนี้ศาลจะออกหมายยึดทรัพย์ชั่วคราว หมายกักเรือ เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดทรัพย์สินหรือเรือของจำเลยไว้ เพื่อไม่ให้จำเลยยักย้ายถ่ายทรัพย์สิน
2. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีอันเป็นการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดแพ้คดี และให้ฝ่ายแพ้คดี(ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)ปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตามฟ้อง หากเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยการบังคับคดีชำระหนี้เอาจากบรรดาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าพนักงานตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อจัดการอายัดทรัพย์สิน ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกขายทอดตลาด และเอาเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือหากการชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นการส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะออกหมายบังคับคดีได้โดยการกำหนดเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีลงในหมายนั้น และกำหนดการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้ทำได้โดยทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคท้ายอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

1. กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกรณีศาลในคดีอาญามีคำสั่งให้ปรับนายประกันจำเลย ฐานผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาล โดยศาลจะออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจัดการยึดทรัพย์สิน ซึ่งนายประกันยื่นเป็นหลักประกันต่อศาล แล้วนำออกขายทอดตลาดนำเงินชำระค่าปรับ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119)
2. กฎหมายอาญา กรณีตามประมวลหมายอาญา มาตรา 29 ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ดังนี้ศาลจะออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจัดการยึดทรัพย์สิน ของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินชำระค่าปรับ
3. พระราชบัญญัติล้มละลาย ในทางปฏิบัติและระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะบังคับคดีกับทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ในคดีล้มละลายเองหรืออาจมีบันทึกเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดแทน

ประเภทของการบังคับคดี

ในการออกหมายบังคับคดี ศาลจะระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 213 แห่ง ปพพ. และจะกำหนดสภาพแห่งการบังคับคดีเพี่ยงเท่าที่เปิดช่องให้กระทำทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี
1. การยึดทรัพย์
2. การอายัดทรัพย์
3. การขายทอดตลาด
4. การบังคับคดีขับไล่ , รื้อถอน
5. อื่น ๆ เช่นการห้ามชั่วคราว การห้ามทำนิติกรรม จำหน่าย จ่าย โอน

การยึดทรัพย์

การยึดทรัพย์มีอยู่ 4 ลักษณะดังนี้คือ
1. การยึดทรัพย์ตามความหมายบังคับคดีรวมถึงการยึดทรัพย์ตามหมายยึดทรัพย์ชั่วคราว ทั้งนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่ศาลสั่งมาโดยเฉพาะเจาะจง จะยึดทรัพย์อื่นไม่ได้
2. การยึดทรัพย์ข้ามเขตอำนาจศาล
3. การยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลอื่น เป็นการบังคับคดีแทน
4. การยึดทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครแทนศาลต่างจังหวัด

สังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้น ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่การบังคับคดี ได้แก่

1. เครื่องใช้สอยส่วนตัว เช่นที่นอน เครื่องใช้ครัวเรือน รวมกันเป็นเงินไม่เกิน 5,000 บาท หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาประสงค์จะได้รับการยกเว้นเกินกว่าที่กำหนด ต้องไปร้องต่อศาล
2. ทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีไว้ใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ดังนี้กฎหมายกำหนด ยกเว้นให้ในจำนวนเงิน 10,000 บาท หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาประสงค์จะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ใดที่มีจำนวนเงินเกินกว่าที่กำหนด ต้องไปร้องต่อศาล
3. ทรัพย์สินที่มีไว้ใช้แทนอวัยวะ ต่าง ๆ เช่น แขนขาเทียม
4. ทรัพย์สินที่เป็นของวงศ์ตระกูล เช่น สมุด หนังสือประจำตระกูล เป็นต้น

การอายัดทรัพย์

ตามลักษณะการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีมี 2 กรณี คือ
1. การอายัดสิทธิร้องขอให้ชำระเงิน จำนวนหนึ่งหรือเรียกว่าการอายัดเงิน
2. การขอให้งดหรือห้ามจำหน่าย จ่ายโอน หรือ ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเรียกว่า การอายัดห้ามโอน

การบังคับคดีในการฟ้องขับไล่ รื้อถอน

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ครอบครองทรัพย์ ดังกล่าว
1. กรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไปจากที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
2. กรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง

การจำหน่ายทรัพย์

การขายทอดตลาดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องตรวจสำนวนก่อนว่ามีการปฏิบัติตามขั้นตอน ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 303 และมาตรา 304
1. ได้มีการแจ้งการยึดทรัพย์ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และผู้ที่มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
2. ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ได้มีการแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
ในการบังคับคดีนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจตามหมายบังคับคดีของศาลที่มีเขตอำนาจที่สำนักงานบังคับคดีตั้งอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากมีการร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจในการบังคับคดีแทนตามหมายบังคับคดีที่ออกโดยศาลอื่นได้เช่นกัน

การบังคับคดีล้มละลาย

การล้มละลายเกิดจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัวคือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จึงเกิดกฎหมายล้มละลายขึ้นมาเพื่อจัดระบบให้เกิดความเป็นธรรม แก่บรรดาเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรือโดยส่วนเฉลี่ยที่เท่าเทียมกัน ตามสัดส่วนแห่งหนี้จากหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้รายนั้น ๆ
ในคดีล้มละลายเพื่อที่จะทราบว่า ลูกหนี้คดีนี้มีเจ้าหนี้อยู่กี่ราย เป็นจำนวนหนี้เท่าใดกฎหมายจึงกำหนดให้ต้องมีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในเวลา 2 เดือน เพื่อที่ลูกหนี้จะได้ทราบว่าตนเองมีหนี้สินเท่าใด หากต้องการจะจัดการกับหนี้สินดังกล่าวควรจะทำอย่างไร เช่นอาจจะยื่นคำขอประนอมหนี้ตามจำนวนที่คิดว่าจะสามารถชำระแก่เจ้าหนี้ได้ หรือหากไม่สามารถจะประนอมหนี้ได้ก็ต้องเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มี 2 อย่าง คือ
1. คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว คำสั่งนี้เป็นคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว (เป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้ชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) เพื่อป้องกันมิให้ลูกหนี้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินนั่นเอง
2. คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คำสั่งนี้เป็นคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเด็ดขาด อันมีผลเหมือนเป็นคำพิพากษา

กระบวนการล้มละลาย มีดังนี้

1. การรวบรวมทรัพย์สินเป็นการรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้มาจากการสอบสวน การรวบรวมเอกสารทางบัญชี และสืบหาทรัพย์ของบรรดาเจ้าหนี้เป็นหลักใหญ่
2. การรวบรวมเจ้าหนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว บรรดาเจ้าหนี้ต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือนนับแต่มีการประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังนั้น เจ้าหนี้ทุกรายแม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจกท์ ก็ต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ด้วย เพื่อมาพิสูจน์หนี้กันใหม่ในคดีล้มละลาย และเพื่อให้ลูกหนี้ทราบว่าตนมีหนี้สินเท่าใด หากจะมีการประนอมหนี้ เมื่อเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนัดพร้อมเพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้มีโอกาสโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่น หากเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้กันจริง หรือหนี้ที่ขอมาสูงกว่าที่ควรจะได้รับชำระหนี้ ต่อจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการสอบสวนพยานเจ้าหนี้ทุกรายและทำความเห็นเสนอศาล ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่เท่าใด เมื่อศาลพิจารณาจากความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จะมีคำสั่งตาม หรือแก้ไข หรือยกขอรับชำระหนี้นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะแจ้งคำสั่งศาลให้เจ้าหนี้ทราบ เจ้าหนี้ ลูกหนี้และผู้โต้แย้ง (ถ้ามี) มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลได้ภายใน 1 เดือนนับแต่ทราบคำสั่ง
3. การพิจารณาหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคดีล้มละลายทุกคดีจะต้องทำอะไรบ้าง

การประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกโดยด่วน และกำหนดว่าต้องมีหัวข้อประชุมว่าต้องมีการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ในการลงมติว่าจะรับคำขอประนอมหนี้หรือไม่นั้น กฎหมายกำหนดว่าต้องมีมติพิเศษ คือต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 และมีจำนวนเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากของเจ้าหนี้ที่เข้าประชุมและออกเสียง

การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย หลังจากมีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานผลการประชุมต่อศาล และศาลจะนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเพื่อทราบความเป็นมาและกิจการทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าจะสมควรเห็นชอบกับการประนอมหนี้ของลูกหนี้รวมทั้งการที่ลูกหนี้จะใช้สิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น การขอออกนอกประเทศ การปลดจากการล้มละลาย การยกเลิกล้มละลายเป็นต้น

การรวบรวมและการแบ่งทรัพย์สิน ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหนี้ที่ในการรวบรวมทรัพย์สินต่อไป ทั้งการยึด อายัด เก็บรวบรวมและขายทอดตลาดทรัพย์สิน เพื่อนำเงินมารวบรวมไว้ในกองทรัพย์สิน และจะต้องทำการแบ่งทรัพย์สินทุก 6 เดือน เว้นแต่ยังไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินได้ หรือเงินที่รวบรวมได้มีจำนวนน้อยยังไม่สมควรแบ่งก็จะรายงานศาลขออนุญาตขยายระยะเวลาการแบ่งทรัพย์สินออกไปก่อน
การแบ่งทรัพย์สินนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ว่า เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องได้รับส่วนเฉลี่ยในอัตราที่เท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้รายใดมีบุริมสิทธิ

การปิดคดี การปิดคดีไม่ได้ทำให้คดีล้มละลายเสร็จสิ้นหรือทำให้การล้มละลายระงับไป แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกิจการทรัพย์สินในคดีที่จะต้องดำเนินการแล้ว กฎหมายให้มีการปิดคดีไว้ก่อน แต่หากภายในเวลา 10 ปีนับแต่ศาลมีคำสั่งปิดคดี พบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินใดขึ้นใหม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลมีคำสั่งเปิดคดีเพื่อทำการสอบสวน และนำทรัพย์สินนั้นเข้ามาไว้ในกองทรัพย์สินเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป

การหลุดพ้นจากการล้มละลาย แม้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถหลุดพ้นจากการล้มละลายได้ โดย
การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย
การปลดจากการล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ. 2547
การยกเลิกการล้มละลาย กฎหมายกำหนดไว้รวม 4 เหตุคือ
1. กรณีไม่มีเจ้าหนี้รายใดช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สิน
2. กรณีมีเหตุอื่น ๆ ที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย เช่น ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้
3. กรณีหนี้สินของลูกหนี้ได้รับชำระเต็มจำนวน
4. กรณีศาลมีคำสั่งปิดคดีแล้ว 10 ปีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินได้อีก


การฟื้นฟูกิจการ

ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคารที่ได้รับความเสียหายโดยตรง เป็นเหตุให้ธุรกิจจำนวนมากต้องประสบวิกฤติทางการเงินและต้องล้มละลายไปในที่สุด

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจมีดังนี้ คือ
1. ความล้มเหลวในด้านการลงทุนของประเทศ
2. การที่ลูกหนี้ต้องเลือกชำระหนี้โดยการผ่อนชำระเป็นงวด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับชำระหนี้โดยมาตรการของเจ้าหนี้
3. ความล้มเหลวในด้านการจ้างงาน เห็นได้จากการเลิกจ้างจำนวนมาก และอัตราการว่างงานที่สูงของประเทศ

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เป็นกฎหมายที่ได้กำหนดกระบวนการล้มละลายอย่างเป็นทางการ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมาโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2541 โดยได้เพิ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการเข้ามาให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการทรัพย์สินลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว นอกเหนือจากการบังคับให้ล้มละลาย การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายล้มละลายทั้งในครั้งนี้และในครั้งต่อๆมา ล้วนเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงกระบวนการล้มละลายให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยอยู่เสมอ

เงื่อนไขเพื่อเข้ารับการฟื้นฟูกิจการ

1. ลูกหนี้ต้องเป็นบริษัท จำกัด, บริษัทมหาชน จำกัด หรือ นิติบุคคลอื่นใด
2. ลูกหนี้ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว
3. ลูกหนี้ต้องมีหนี้ทั้งหมดในจำนวนที่แน่นอน ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

การเริ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการกระทำได้โดยมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย โดยศาลอาจมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามที่ร้องขอ เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุผลสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ทั้งนี้ กระบวนการฟื้นฟูกิจการถือเป็นการให้โอกาสแก่ลูกหนี้ที่หนี้สินล้นพ้นตัว หากแต่ยังมีศักยภาพทางธุรกิจที่ดีอยู่ ไม่ให้ถูกพิทักษ์ทรัพย์และขณะเดียวกันก็รักษาธุรกิจของตนไว้ และเพื่อดำเนินการให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการประสบผลสำเร็จ กระทรวงยุติธรรมจึงได้ตั้งสำนักฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ขึ้นในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

กฎหมายล้มละลายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกระบวนการนี้ ให้เริ่มขึ้นทันทีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ภายหลังศาลมีคำสั่งแล้ว ภาระหน้าที่ที่สำคัญของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แก่
1. เรียกประชุมเจ้าหนี้
2. ทำความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
3. ให้ความช่วยเหลือแก่ศาลในการติดตามความก้าวหน้าของขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ

วัตถุประสงค์ของสำนักฟื้นฟูกิจการลูกหนี้คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ประสบภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวในการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการจนสัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตาม ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนต่างก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ลูกหนี้สามารถฟื้นฟูกิจการได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเห็นความสำคัญของหน้าที่และความรับผิดชอบของตนในการฟื้นฟูกิจการให้ประสบผลสำเร็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงได้ออกกฎกระทรวงลงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนทุกคนต้องมีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ และต้องขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้น ซึ่งประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวอีกเช่นกัน

การวางทรัพย์

การวางทรัพย์เป็นกระบวนการที่อนุญาตให้ลูกหนี้หรือบุคคลที่สามที่ยินดีจะชำระหนี้แทนลูกหนี้มาวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งหากดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมส่งผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้ไม่ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้

เหตุของการวางทรัพย์

เหตุที่จะวางทรัพย์ได้มีดังนี้
1) เจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้หรือปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ เช่น จ่ายค่าเช่าบ้านไม่ได้ เพราะผู้ให้เช่าบ่ายเบี่ยงเพื่อหาเหตุจะยกเลิกการเช่า
2) เจ้าหนี้ไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าหนี้ไม่อยู่หรือไปต่างประเทศไม่ทราบจะกลับมาเมื่อใด
3) ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิของเจ้าหนี้ หรือรู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่ความผิดของตน เช่น เจ้าหนี้ตาย ลูกหนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นทายาท
4) ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 232,302,631,679,754,772 และ 947
5) ตามบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นให้มีการวางทรัพย์ เช่น กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
6) ตามคำสั่งศาล

ทรัพย์ที่วางได้

ทรัพย์ที่วางได้ ได้แก่ เงินและทรัพย์สินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่จะส่งมอบกันตามกฎหมาย
1) ในกรณีที่เกี่ยวกับทรัพย์ที่วางเป็นเงิน
1.2 วางทรัพย์ด้วยเงินสด
1.3 วางด้วยเช็คทุกชนิดถ้าหากให้มีผลสมบูรณ์ในวันที่วาง ผู้วางทรัพย์ควรวางเป็นเงินสด
2) ทรัพย์ที่ไม่ควรวาง ได้แก่
2.1 สภาพทรัพย์ไม่ควรแก่การวาง หรือเป็นที่พึงวิตกว่าทรัพย์นั้นต่อไปจะเสื่อมเสียหรือทำลาย หรือบุบสลายได้ เช่น น้ำแข็งที่สลักเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อความสวยงามในงานสมรส
2.2 ค่ารักษาทรัพย์แพงเกินควร
2.3 ตึกแถว โรงแรม คอนโดมิเนียม เครื่องจักร เป็นต้น

ผู้ที่วางทรัพย์ได้

ผู้ที่วางทรัพย์ได้คือ
1) ลูกหนี้
2) ผู้รับมอบอำนาจลูกหนี้
3) บุคคลภายนอกที่เต็มใจชำระหนี้แทนลูกหนี้ เว้นแต่สภาพของหนี้ที่จะชำระนั้นไม่อาจให้บุคคลภายนอกชำระแทนได้

สถานที่ติดต่อ

สถานที่ติดต่อในการวางทรัพย์คือ
1) ส่วนกลาง ติดต่อที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เลขที่ 189/1 ถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ โทรศัพท์ 02-881-4999
2) ส่วนภูมิภาค ติดต่อที่
2.1 สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ ภูมิภาคที่ 1-9
2.2 สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำจังหวัด

วิธีปฏิบัติและหน้าที่ของผู้วางทรัพย์

ผู้วางทรัพย์ต้องปฏิบัติและมีหน้าที่ดังนี้
1) เขียนคำขอวางทรัพย์ตามแบบ ว.1 หากมอบให้บุคคลอื่นวางทรัพย์แทนต้องทำใบมอบอำนาจตามแบบ ว.4
2) เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการวางทรัพย์ในเรื่องนั้น ๆ มาแสดง
2.1 ถ้าวางตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลให้มีคำพิพากษาตามยอมที่จ่าศาลรับรอง
2.2 ถ้าวางตามสัญญาเช่าให้มีสัญญาเช่าพร้อมถ่ายสำเนาสัญญาเช่าที่รับรอง
2.3 ถ้าวางตามสัญญาขายฝากให้มีสัญญาขายฝาก พร้อมถ่ายสำเนาสัญญาขายฝากที่รับรอง
3) ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายครั้งแรก 300 บาท
4) ในกรณีทรัพย์ที่วางเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องนำเจ้าพนักงานไปตรวจทรัพย์ก่อน
5) ผู้วางทรัพย์หรือผู้รับมอบอำนาจต้องมาให้เจ้าพนักงานสอบสวนถึงที่มาแห่งมูลหนี้
6) ผู้วางทรัพย์ต้องแจ้งการวางทรัพย์ให้เจ้าหนี้ทราบโดยเร็ว

ผลของการวางทรัพย์

1) ทำให้ท่านหลุดพ้นจากหนี้ที่ต้องชำระไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ เจ้าหนี้หลังจากวันที่ท่านวางทรัพย์
2) เจ้าหนี้มีสิทธิมารับทรัพย์ที่วางภายใน 10 ปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์ หากเจ้าหนี้ไม่มารับสิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางเป็นอันระงับไป
3) เมื่อเจ้าหนี้มารับเงินแล้ว ผู้วางทรัพย์ ต้องมารับค่าใช้จ่ายที่วางประกันไว้คืน หากผู้วางทรัพย์ ไม่มารับคืนภายใน 1 เดือน เงินค่าใช้จ่ายวางประกันตกเป็นของแผ่นดิน

การถอนหรือขอรับทรัพย์ที่วาง

ผู้วางทรัพย์อาจถอนหรือขอรับทรัพย์ที่วางคืนได้เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
1) ผู้วางทรัพย์ได้แสดงเจตนาสละสิทธิที่จะถอนไว้
2) เจ้าหนี้ได้แจ้งต่อสำนักงานวางทรัพย์ ว่าจะรับทรัพย์ที่วางนั้นแล้ว
3) การวางทรัพย์ตามคำสั่งศาล
4) หากบุคคลใดวางทรัพย์ชำระหนี้แทนลูกหนี้ บุคคลนั้นจะถอนการวางทรัพย์ได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้ยินยอม

ผลของการถอนการวางทรัพย์

เมื่อผู้วางทรัพย์ (ลูกหนี้) ถอนทรัพย์ที่วางให้ถือเสมือนว่ามิได้มีการ วางทรัพย์เลยเช่นเดียวกับเช็คที่สั่งจ่าย เพื่อการวางทรัพย์หากเรียกเก็บเงินไม่ได้ ก็ให้ถือเสมือนว่ามิได้มี การวางทรัพย์เลย ท่านจะหลุดพ้นจากหนี้ได้อย่างไร หากเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ อาทิเช่น
- ค่าเช่าบ้าน
- ค่าเช่าซื้อ
- ไถ่ถอนการขายฝาก
- ไถ่ถอนจำนอง ฯลฯ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US