ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยเองได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ได้โดยตรง แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองได้ แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2552

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่า เมื่อ อ. หรือพี่น้องในตระกูลนำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ทันที ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่ตกลงกันในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 และโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการกับจำเลยที่ 2 เอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์แต่ตกลงไว้ในราคาอื่นและจำเลยที่ 1 รับมัดจำไว้แล้ว การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงย่อมเข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์จึงเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย เป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่าง อ. จำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรอง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ป.วิ.พ. มาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปใช้สำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยตรง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และตามปัญหาของจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไป

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบและโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 427 ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา พร้อมบ้านปูนชั้นเดียว เสา 9 ต้น หลังคามุงกระเบื้องคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่ปลอดจำนอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และพิพากษาว่านิติกรรมจำนองเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการจำนอง และให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 กระทำการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 427 ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา พร้อมบ้านปูนชั้นเดียว เสา 9 ต้น หลังคามุงกระเบื้องให้แก่โจทก์ในสภาพที่ปลอดจำนองให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 สมควรให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่า เมื่อนางอารีย์หรือพี่น้องในตระกูล “ศรีนาคา” นำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ทันที ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่ตกลงกันในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 และโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการกับจำเลยที่ 2 เอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์แต่ตกลงไว้ในราคาอื่นและจำเลยที่ 1 รับมัดจำไว้แล้ว การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงย่อมเข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์จึงเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย เป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่างนางอารีย์กับจำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรอง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทและบ้านให้แก่โจทก์จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปคือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเองได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) บัญญัติว่า ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ ซึ่งมาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปสำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โดยศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้วดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และตามปัญหาของจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทหรือไม่ แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองได้ก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
( อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย - มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ )
ศาลจังหวัดนครราชสีมา - นายชัยรัตน์ สิทธิวิรัชธรรม

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นางสุรีพร อัชฌานนท์
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสิน ตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
(1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภท เดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อ ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้ บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บน อสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้
(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่ พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้
(3) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึง วันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(4) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่อง คำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่า เช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้ จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษา ก็ได้
(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้น ขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
(6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งมิได้มี ข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึง ถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาล จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิ ได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง หรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US