ลูกหนี้โอนทรัพย์สิน | ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น

ลูกหนี้โอนทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นในคดีล้มละลาย

ลูกหนี้ทำสัญญาให้สิทธิเจ้าหนี้เบิกถอนเงินในบัญชีฝากประจำของตนเพื่อเป็นประกันหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีก่อนที่จะถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด และต่อมาลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้จากเงินในบัญชีฝากประจำได้ไม่เป็นการได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8298/2538

ขณะลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำไว้กับผู้คัดค้านและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านลูกหนี้จะเป็นหนี้ผู้คัดค้านหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากผู้คัดค้านหรือไม่ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่แน่นอนหากลูกหนี้ยังไม่เบิกเงินไปลูกหนี้ก็ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านลูกหนี้จะเป็นหนี้ผู้คัดค้านก็ต่อเมื่อได้เบิกเงินไปจากบัญชีเท่านั้นดังนั้นขณะที่ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำและให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านแม้จะกระทำในระหว่างที่ลÙกหนี้ถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายแต่ในขณะนั้นผู้คัดค้านก็ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้การกระทำของลูกหนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นซึ่งผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการกระทำของลูกหนี้ตามมาตรา115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ได้ เมื่อการให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำจากบัญชีของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านสามารถถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวหักกลบลบหนี้ที่มีอยู่แก่ผู้คัดค้านเมื่อใดก็ได้ผู้ร้องไม่อาจร้องขอเพิกถอนได้และลูกหนี้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ผู้คัดค้านในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิถอนเงินฝากประจำของลูกหนี้หักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้คัดค้านได้ตามมาตรา102แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ทั้งนี้โดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของลูกหนี้อีกผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ได้เช่นกัน

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลย (ลูกหนี้) ขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตามทางสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่าลูกหนี้เป็นลูกค้าของผู้คัดค้านประเภทบัญชีกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 288-1-00731-5 ต่อมาวันที่9 สิงหาคม 2534 ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี เพื่อเป็นหลักประกันลูกหนี้ได้ทำสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 288-3-00253-1/03 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2534 จำนวน200,000 บาท โดยลูกหนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านสามารถหักเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีดังกล่าวชำระหนี้เป็นการหักกลบลบหนี้ได้ทุกเมื่อ การกระทำของลูกหนี้กระทำภายหลังที่โจทก์ขอให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้วเกือบ 2 เดือน ในขณะที่ลูกหนี้มีหนี้สินมาก โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 5 ราย เป็นเงินจำนวน 6,230,764.81 บาทแต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้ร้องรวบรวมได้เป็นที่ดินมีราคาประเมินเพียง 648,000 บาท การกระทำของลูกหนี้มุ่งให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้ ขอให้เพิกถอนการนำเงินเข้าฝากประจำและจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 288-3-00253-1/03เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2534 จำนวน 200,000 บาท ของลูกหนี้และการขอหักกลบลบหนี้ของผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 โดยให้ผู้คัดค้านคืนเงินฝากประจำจำนวน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่8 สิงหาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่ลูกหนี้นำเงินฝากเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านรับชำระหนี้โดยสุจริตไม่ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 จะต้องได้ความว่าการกระทำของลูกหนี้หรือการที่ลูกหนี้ยอมให้กระทำการเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้คนอื่นซึ่งมุ่งถึงกิริยาที่ยินยอม มิใช่ผู้อื่นทำด้วยความยินยอมของลูกหนี้ แม้จะไม่มีข้อตกลงให้ผู้คัดค้านหักเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 288-3-00253-1/03 ชำระหนี้ ผู้คัดค้านก็มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 102ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าเจ้าหนี้สามัญ ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหลักประกันดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่นพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 รับรองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้แสดงว่าเจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็สามารถหักเงินฝากของลูกหนี้ชำระหนี้ได้ การนำเงินฝากประจำของลูกหนี้หักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระอยู่แก่ผู้คัดค้านไม่ทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการนำเงินฝากประจำและจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 288-3-00253-1/03ของลูกหนี้ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2534 จำนวน 200,000 บาทให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องลูกหนี้ขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2534ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 25พฤษภาคม 2535 และพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม2536 ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันไว้กับผู้คัดค้านตามบัญชีเลขที่ 288-1-00731-5 ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม2534 ลูกหนี้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านในวงเงิน200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และในวันเดียวกันลูกหนี้ได้ทำสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 288-3-00253-1/03 จำนวนเงิน 200,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านไว้เป็นประกัน พร้อมทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วมีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 5 ราย จำนวนเงิน 6,230,764.81 บาทซึ่งผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้เพียง 648,000 บาทและไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกที่จะรวบรวมมาชำระหนี้ได้ สำหรับหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของลูกหนี้คิดถึงวันที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ยังเป็นหนี้ผู้คัดค้านอยู่จำนวนหนึ่งผู้คัดค้านได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้มาชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การที่ลูกหนี้ได้ทำสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 288-3-00252-1/03 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2534แก่ผู้คัดค้านและการที่ผู้คัดค้านถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้ดังกล่าวนำมาชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของลูกหนี้เป็นการกระทำของลูกหนี้โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำไว้กับผู้คัดค้านตามบัญชีเลขที่ 288-3-00253-1/13 เมื่อวันที่8 สิงหาคม 2534 และลูกหนี้ทำสัญญากู้เบิกเงินบัญชีกับผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2534 เห็นว่า ขณะที่ลูกหนี้นำเงินฝากก็ดีและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านก็ดี ลูกหนี้ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านอยู่เลย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 บัญญัติว่า "การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้" ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านจะขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ ของลูกหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องพิจารณาถึงความมุ่งหมายของลูกหนี้ว่าจะให้เจ้าหนี้คนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นหรือไม่ เท่านั้น ปัญหาที่ว่าลูกหนี้ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านหรือไม่ในขณะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำไว้กับผู้คัดค้านและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้คัดค้านนั้น ลูกหนี้ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ลูกหนี้จะเป็นหนี้ผู้คัดค้านหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากผู้คัดค้านหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่แน่นอน หากลูกหนี้ยังไม่เบิกเงินไปลูกหนี้ก็ยังไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้าน ลูกหนี้จะเป็นหนี้ผู้คัดค้านก็ต่อเมื่อได้เบิกเงินไปจากบัญชีเท่านั้น ดังนั้นขณะที่ลูกหนี้นำเงินเข้าฝากประจำและให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน แม้จะกระทำในระหว่างที่ลูกหนี้ถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลาย แต่ในขณะนั้นผู้คัดค้านก็ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้การกระทำของลูกหนี้ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นซึ่งผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการกระทำของลูกหนี้ตามมาตรา 115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ ปัญหาต่อไปมีว่าเมื่อลูกหนี้ได้เบิกเงินไปจากบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและเป็นหนี้ผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านจะมีสิทธิถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของลูกหนี้นำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไปได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อการให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำจากบัญชีของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านสามารถถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวหักกลบลบหนี้ที่มีอยู่แก่ผู้คัดค้านเมื่อใดก็ได้ ผู้ร้องไม่อาจร้องขอเพิกถอนได้ดังวินิจฉัยมาแล้ว เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่ผู้คัดค้านในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิถอนเงินฝากประจำของลูกหนี้ที่หักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้คัดค้านได้ตามมาตรา 102แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ทั้งนี้โดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของลูกหนี้แต่ประการใดอีก ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ได้เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 102 ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดี ก็อาจหักกลบลบกันได้ เว้นแต่ เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
มาตรา 115 การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US