สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ |รถยนต์ถูกลักไป | ใช้สิทธิไม่สุจริต

กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์จากบริษัทประกันภัย
รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยติดต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 250,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยดังกล่าวอนุมัติให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว บริษัทประกันภัยดังกล่าวถูกกรมการประกันภัยเข้าควบคุมกิจการในเวลาต่อมา จำเลยจึงไม่ได้ค่าสินไหมทดแทน สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า ว่า “ผู้เช่าสัญญาว่า (ก) กรณีที่รถยนต์สูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ เห็นว่า หากเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้ว กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549

ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน รษ 8231 กรุงเทพมหานคร ไปจากจำเลยในราคาเงินสด 298,130.84 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.5 ต่อปี ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 12 งวด งวดละ 21,217.76 บาท ต่อเดือน รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 22,703 บาท มีข้อตกลงว่าหากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือทันที โดยจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยมาปฏิเสธความรับผิด ระหว่างสัญญาเช่าซื้อโจทก์ต้องเอาประกันภัยกำหนดให้จำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปประกันภัยไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด โดยระบุให้จำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2540 รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหาย จำเลยได้แนะนำโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อต่อไป โดยจำเลยจะดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยและจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยครบถ้วนแล้วเป็นเงิน 342,636 บาท แต่จำเลยไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้อนิสสัน ในสภาพดีรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อแต่อย่างใด กลับแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่สูญหาย และจำเลยไม่ดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร จนบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ความเสียหายจึงเกิดขึ้นจากฝ่ายจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อที่สูญหายให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย สัญญาจึงเลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำนวน 342,636 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมเป็นเงินถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 402,718 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 402,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 342,636 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากจำเลยจำนวน 254,613.12 บาท โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหายอาจเกิดจากโจทก์หรือผู้ครอบครองอนุญาตให้นำรถยนต์ไปใช้หรือสูญหายโดยประการอื่นอันบริษัทประกันภัยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมดทดแทน จำเลยไม่ได้รับเงินจำนวน 342,636 บาท จากโจทก์ กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อที่ต้องหารถยนต์คันใหม่มาแทนรถยนต์ที่สูญหายและต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือต่อไปไม่สามารถยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยมาปฏิเสธความรับผิดได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์หรือเงินจำนวน 342,636 บาท แก่โจทก์ รถยนต์ที่สูญหายเกิดจากความผิดของฝ่ายโจทก์ เมื่อจำเลยรับเงินจากโจทก์ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะไปขอรับชำระหนี้จากบริษัทประกันภัยได้ โจทก์ขอรับชำระหนี้ในคดีที่บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงจะมาเรียกร้องเงินจากจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 227,030 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยราคา 298,130.84 บาท ชำระเงินค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 65,607.48 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 12 งวด งวดละ 22,703 บาท ภายในวันที่ 2 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 มิถุนายน 2540 ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 แล้วโจทก์ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเอาประกันภัยไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด มีจำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 250,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลย 2 งวด ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2540 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยติดต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 250,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยดังกล่าวอนุมัติให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนวันที่ 23 ธันวาคม 2540 โดยแจ้งให้จำเลยทราบในเดือนมกราคม 2541 และให้จำเลยไปติต่อบริษัทประกันภัยดังกล่าวในวันที่ 17 เมษายน 2541 จำเลยก็ไปติดต่อขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว แต่พนักงานของบริษัทประกันภัยดังกล่าวที่ทำเรื่องจ่ายเงินไม่อยู่ ทางบริษัทประกันภัยดังกล่าวให้จำเลยมาติดต่ออีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2541 จำเลยไปติดต่อในเดือนดังกล่าวจึงทราบว่าบริษัทประกันภัยดังกล่าวถูกกรมการประกันภัยเข้าควบคุมกิจการแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ค่าสินไหมทดแทน

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อ 10 งวด เป็นเงิน 227,030 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 กำหนดว่า “ผู้เช่าสัญญาว่า (ก) กรณีที่รถยนต์สูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (ซ) มาปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชำระราคาดังกล่าวข้างต้น ?(ซ) จะประกันภัยรถยนต์โดยทันที (เว้นแต่เจ้าของจะได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่น) และระหว่างอายุสัญญาฉบับนี้จะประกันภัยรถยนต์ไว้ตลอดเวลาโดยใช้กรมธรรม์ชนิดให้ความคุ้มครองเต็มจำนวนราคาค่าเช่าซื้อโดยปราศจากข้อกำหนดความรับผิดอย่างต่ำที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเองหรือข้อจำกัดสิทธิใด ๆ กับบริษัทประกันภัยที่เจ้าของเชื่อถือ และให้สลักหลังระบุให้เจ้าของเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เต็มจำนวนและมอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้กับเจ้าของ ผู้เช่าในฐานะผู้เอาประกันต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์อย่างเคร่งครัด ถ้าผู้เช่าส่งคืนรถยนต์ให้แก่เจ้าของหรือถ้าเจ้าของกลับเข้าครอบครองรถยนต์นั้น ส่วนได้เสียของผู้เช่าในการประกันภัยใด ๆ ที่ทำไว้ตามสัญญาฉบับนี้ให้ตกเป็นของเจ้าของอย่างสิ้นเชิง โดยให้เจ้าของมีสิทธิได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการประกันภัยดังกล่าว รวมทั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามกรมธรรม์ที่ยังค้างอยู่ ณ เวลาที่ส่งรถยนต์คืนหรือ ณ เวลากลับเข้าครอบครองรถยนต์และ/หรือส่วนลดเบี้ยประกันภัยใด ๆ สิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนใด ๆ และเงินทั้งหมดที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายและที่ได้จ่ายในกรณีรถยนต์ถูกลักหรือเสียหายอย่างสิ้นเชิงตามสัญญาประกันภัยใด ๆ ดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทรับประกันภัยจ่ายให้แก่เจ้าของโดยตรงและโดยสัญญานี้ผู้เช่ามอบหมายอำนาจอันจะเพิกถอนมิได้ให้เจ้าของเป็นผู้ออกใบรับเงินให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยสำหรับเงินใด ๆ ที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว” เห็นว่า หากเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้ว กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์ หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - สุรพล เจียมจูไร - สถิตย์ ทาวุฒิ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคน ต้องกระทำโดยสุจริต

มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สิน ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สิน นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน เท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US