ลูกล้อทางเลื่อนไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้

สัญญาโอนขายสิทธิบัตรระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญามีข้อตกลงว่าผู้ขายจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระราคา และผู้ซื้อผู้ขายตกลงหักหนี้กันวิธีชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ขายแล้ว ผู้ขายรับทราบแต่ไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ซื้อ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4584/2552

สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นสัญญาโอนขายสิทธิบัตร โดยมีข้อกำหนดว่าผู้โอนคือโจทก์ทั้งสี่ที่เป็นผู้ขายจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้รับโอนคือจำเลยด้วย จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 369 กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่ชำระราคาให้โจทก์ทั้งสี่ ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสี่รับว่ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจริง และแจ้งให้จำเลยหักชำระหนี้ค่าหุ้นที่โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้ชำระแก่จำเลย ต่อมาจำเลยส่งใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมรับการชำระหนี้ค่าหุ้นแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่ายังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนสิทธิบัตรคำขอเลขที่ 023613 เลขที่สิทธิบัตร 10099 คืนให้โจทก์ทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้หรือหาผลประโยชน์จากสิทธิบัตรคำขอเลขที่ 023613 เลขที่สิทธิบัตร 10099 อีกต่อไป

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยมิได้ชำระค่าซื้อขายสิทธิบัตรแก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า สัญญาโอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในข้อ 1 มีใจความว่า เป็นการโอนขายสิทธิบัตรแก่จำเลยในราคา 7,000,000 บาท โดยมีข้อกำหนดด้วยว่าผู้โอนซึ่งหมายถึงโจทก์ทั้งสี่ที่เป็นผู้ขายจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้รับโอนคือจำเลยด้วยจึงนับเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือโจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ต้องโอนสิทธิบัตรพร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่ชำระราคาให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งผลแห่งสัญญาคือคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 ซึ่งข้อเท็จจริงรับกันอยู่ว่าโจทก์ทั้งสี่ได้โอนสิทธิบัตรให้แก่จำเลยแล้ว จึงมีปัญหาแต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาไม่ชำระหนี้ตอบแทนและโจทก์ทั้งสี่ยังปฏิบัติการชำระหนี้ไม่ครบถ้วนอันจะถือว่าจำเลยยังไม่ผิดสัญญาหรือไม่ ในประการนี้ฝ่ายโจทก์ทั้งสี่รับอยู่ว่ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจริงและยังไม่ได้ชำระค่าหุ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 จึงได้มีหนังสือทวงหนี้จำเลย จำนวน 7,000,000 บาท โดยแจ้งให้จำเลยหักชำระหนี้ค่าหุ้น จำนวน 5,000,000 บาท การที่จำเลยส่งใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมรับการชำระหนี้ค่าหุ้นตามหนังสือของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งแม้จำเลยจะจัดส่งใบหุ้นที่มีการชำระเต็มมูลค่าให้แก่โจทก์ทั้งสี่ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์ทั้งสี่ให้นายอุทัยมีหนังสือแจ้งต่อจำเลย ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ขอถือหุ้นของจำเลยอีกต่อไปก็ตาม เพราะโจทก์ทั้งสี่เมื่อเข้าถือหุ้นของจำเลยแล้ว ย่อมไม่สามารถถอนการถือหุ้นของตนเองโดยพลการ เนื่องจากขัดต่อจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งบริษัทจำกัด ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดให้กระทำได้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ทั้งสี่ก็ได้มีคำอธิบายอยู่ในข้อ 2.1 แล้วว่า บริษัทจำเลยได้ออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2546 โดยมีการแจ้งต่อสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงไม่พอที่จะรับฟังว่าจำเลยส่อเจตนาไม่สุจริต แม้จะส่งมอบใบหุ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ห่างจากวันที่โจทก์ทั้งสี่แจ้งให้หักหนี้ถึง 2 เดือน ส่วนเรื่องการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีก็เช่นกัน แม้ขณะทำสัญญาโอนสิทธิบัตร โจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลย เป็นทำนองว่าถือว่ามีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแล้วโดยปริยาย เพราะโจทก์ที่ 1 มีความรู้ความสามารถในการก่อสร้างติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียตามสิทธิบัตรอยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 จะได้ดำเนินการตามสิทธิบัตรในนามจำเลย ทั้งช่วงระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการของจำเลยหลังการรับโอนสิทธิบัตรจากโจทก์ทั้งสี่ก็มีระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน และโจทก์ที่ 1 ก็มิได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ใดในบริษัทจำเลย หลักฐานอีกประการหนึ่งคือจดหมายที่นายอุทัย มีถึงจำเลย ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างส่ง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2546 ก็ยอมรับอยู่ว่ายังไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่จำเลย ดังนั้นเมื่อนำมาพิจารณาประกอบตัวโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยค้านว่า จำเลยเคยเสนอชื่อบุคคลที่จะมารับการถ่ายทอดจากโจทก์ทั้งสี่แล้วก็ดี กลุ่มใยบัวเทศ (นามสกุลของโจทก์ทั้งสี่) ไม่เคยมีหนังสือให้จำเลยตั้งบุคคลขึ้นมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ดี นายอุทัยพยานโจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดนั้นอย่างน้อยจะต้องจบปริญญาตรีวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบำบัดน้ำเสีย ซึ่งค้านกับที่โจทก์ที่ 1 ที่ได้รับการถ่ายทอดจากนายอุทัยด้วยคนหนึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าตนจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจการเงินไม่ได้จบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้แสดงการขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ได้เป็นพับ
( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นางสาวอัญชลี อนันต์โท
ป.พ.พ. มาตรา 208, 369

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US