สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เหตุผลของศาลอุทธรณ์ได้กล่าวโดยละเอียดชัดเจนโดยมีสำเนาพยานเอกสารไม่ว่าสำเนารายงานการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด... ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา
________________
มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
(วรรค 2)ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2552

ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่โต้แย้งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มาไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับในกิจการของจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องขอให้รับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ประเภทหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปจัดการงานของห้างดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
________________________________

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,110,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต ก่อนสืบพยาน โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยร่วมออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 562,431 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้กล่าวโดยละเอียดชัดเจนซึ่งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบแล้ว โดยเฉพาะที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำมาสืบเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มีสำเนาพยานเอกสารไม่ว่าสำเนารายงานการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดทับปุดเจริญโชค ทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยร่วมและเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลในช่วงเวลาเกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่โต้แย้งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มาอีกนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้สอดเข้าไปจัดกิจการห้างหุ้นส่วนดังกล่าว โดยรับว่าเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเข้าร่วมเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนดังกล่าวในฐานะส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสองด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับในกิจการของจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องขอให้รับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ประเภทหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปจัดการงานของห้างดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ - อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย )
ศาลจังหวัดพังงา - นายสัมพันธ์ พิทักษ์แท้
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวิทยา จิญกาญจน์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US