อายุความสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

อายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2549

บันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายโดยมีการลดค่าเสียหายและกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จรวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่คู่สัญญา ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนออกประมูลขายได้เงินน้อยกว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายดังกล่าว จำนวน 284,007 บาท โดยมีการลดค่าเสียหายเหลือเพียง 170,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จรวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว

ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่าหากชำระไม่ผิดนัดในยอดเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากผิดสัญญาตกลงยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน284,007 บาท และยินยอมเสียดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญานั้น ข้อตกลงให้ชำระค่าเสียหายทั้งหมดจำนวน 284,007 บาท ในส่วนที่เกิน 170,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้

แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดในหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามสัญญาและตามกฎหมายสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วยจึงไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

หนี้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 อันเป็นหนี้อุปกรณ์จึงระงับไปด้วย โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 10 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กันยายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุดนำออกประมูลขายได้เงิน 65,420.56 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 284,007 บาท พร้อมดอกเบี้ยตกลงชำระค่าเสียหายเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 410,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 284,007 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 284,007 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ร ? 4673 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ในราคา 242,388 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน งวดละ 6,733 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 ตุลาคม 2536 งวดต่อไปทุกวันที่ 23 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2537 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสาม ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดประจำวันที่ 23 มีนาคม 2537 ถึงงวดประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2537 รวม 4 งวด เป็นเงิน 26,932 บาท วันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ยึดรถยนต์คืน โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงิน 65,420.56 บาท วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแก่โจทก์รวม 284,007 บาท วันที่ 17 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำการบันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว วันที่ 10 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า บันทึกข้อตกลงมีข้อตกลงให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 284,007 บาท โดยให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2539 และผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท หากชำระไม่ผิดนัดในยอดเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ตกลงไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากผิดสัญญาตกลงยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน 284,007 บาท และยินยอมเสียดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 284,007 บาท เหลือเพียง 170,000 บาท กำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จ รวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งลงลายมือชื่อไว้ให้ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่ข้อตกลงที่ว่าหากชำระไม่ผิดนัดในยอดเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากผิดสัญญาตกลงยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน 284,007 บาท และยินยอมเสียดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญานั้น ข้อตกลงให้ชำระค่าเสียหายทั้งหมดจำนวน 284,007 บาท ในส่วนที่เกิน 170,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญามีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ เมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคาเพียง 242,388 บาท ได้ชำระราคาและค่าเสียหายบางส่วนให้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 60,597 บาท โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงิน 65,420.56 บาท โจทก์จึงได้รับเงินไปแล้วรวมเป็นเงินประมาณ 126,017.56 บาท เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ 10,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงิน 180,000 บาท และให้ลดดอกเบี้ยในกรณีผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงจากอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย แต่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดในหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามสัญญาและตามกฎหมาย สมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วย จึงไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และเมื่อหนี้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 อันเป็นหนี้อุปกรณ์จึงระงับไปด้วย โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่ 10 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กันยายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 180,000 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( สิทธิชัย รุ่งตระกูล - สุรพล เจียมจูไร - สถิตย์ ทาวุฒิ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/32 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล ที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US