อุทธรณ์และฎีกา (บทความ)

การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกา
ความเข้าใจเบื้องต้นและข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะอุทธรณ์และฎีกา

ระบบศาลยุติธรรมของประเทศไทย แบ่งศาลยุติธรรมออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา กระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาของเราค่อนข้างจะแตกต่างกับศาลต่างประเทศเป็นผลให้การพิจารณาคดีในศาลไทยค่อนข้างล่าช้า กล่าวคือเราอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเป็นลำดับชั้นศาลไป และโดยทั่วไปในการอุทธรณ์ฎีกาเราสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ทั้งหมด ไม่ว่าในปัญหาข้อกฎหมายหรือในปัญหาข้อเท็จจริงรวมทั้งในเรื่องดุลพินิจของศาลด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากในต่างประเทศ ซึ่งปัญหาข้อเท็จจริงมักจะยุติในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ทำให้ภาระในการพิจารณาคดีของศาลสูงในต่างประเทศมีค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นปัญหาที่ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ก็ดี ศาลฎีกาก็ดี จึงมีเป็นจำนวนมากและในการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอาจกล่าวได้ว่าเป็นการพิจารณาซ้ำ (Retry) ในปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิจารณามาแล้ว เช่นว่า จำเลยกระทำละเมิดหรือไม่ ถ้าในต่างประเทศเขาวินิจฉัยว่าทำละเมิดแล้วก็จะอุทธรณ์ได้แต่เพียงข้อกฎหมายไม่ให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอีก ข้อกฎหมายที่อุทธรณ์ได้ก็จำกัดเฉพาะว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไรหรือไม่ หรือศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องอย่างไรหรือไม่เท่านั้น ในลักษณะการตรวจสอบ (Review) เพราะฉะนั้นภาระของผู้พิพากษาศาลไทยค่อนข้างจะหนักและเป็นผลให้การพิจารณาคดีแต่ละคดีกว่าจะแล้วเสร็จเป็นอันยุติต้องใช้เวลานาน และในขณะเดียวกันก็เกิดข้อวิจารณ์กันมากเหมือนกันว่า แม้ผู้พิพากษาศาลสูงจะเป็นผู้มีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีมานาน แต่ในปัญหาข้อเท็จจริงผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นได้เห็นบุคคลิกลักษณะและอากัปกิริยาของพยานโดยตรง การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในศาลชั้นต้นน่าจะถูกต้องหรือเที่ยงตรงมากกว่าซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ในต่างประเทศไม่เกิดขึ้น แต่ในบ้านเราศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่ตรวจสอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นด้วย หรือในขณะเดียวกันศาลฎีกาก็ทำหน้าที่ตรวจสอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ด้วยทำให้เหมือนกับพิจารณาปัญหาซ้ำซ้อนและเป็นภาระทำให้คดีค่อนข้างที่จะล่าช้า

เนื่องจาก ระบบอุทธรณ์ฎีกาในปัจจุบันมีส่วนสำคัญที่ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีล่าช้าดังกล่าว จึงมีแนวความคิดที่จะปรับปรุงระบบอุทธรณ์และฎีกาให้การพิจารณาพิพากษาคดีรวดเร็วขึ้น โดยนำระบบสองชั้นศาล มาใช้ โดยให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลชั้นอุทธรณ์และให้เป็นที่สุด และจะอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้เฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา แนวความคิดนี้จะช่วยให้ย่นระยะเวลาลงไปได้และช่วยให้ศาลชั้นอุทธรณ์มีความสำคัญเพิ่มขึ้นและทำให้ศาลฎีกาสามารถพิจารณาคดีที่สำคัญได้ละเอียดรัดกุมมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 219 ได้บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่รับคดีไว้พิจารณา ถ้าเห็นว่าไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ทั้งนี้ตามระเบียบที่ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ข้อสังเกตประการแรก

ระบบอุทธรณ์ฎีกาของเราถือหลักทั่วไปว่า การอุทธรณ์หรือฎีกาถือว่าเป็นสิทธิ เพราะตามบทบัญญัติในมาตรา 223 ว่าด้วยการอุทธรณ์บัญญัติในลักษณะที่ว่าหลักแล้วคืออุทธรณ์ได้เว้นแต่จะเข้าข้อห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ส่วนในเรื่องของการฎีกาก็เช่นเดียวกัน มาตรา 247 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น และภายใต้บังคับบทบัญญัติ 4 มาตราต่อไปนี้กับกฎหมายอื่นว่าด้วยการฎีกา ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม หลักจึงเป็นเช่นเดียวกับในเรื่องของการอุทธรณ์คือ ถือว่าเป็นสิทธิที่จะฎีกาได้ ส่วนที่จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้เป็นข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นที่จะต้องศึกษากันก็คือข้อยกเว้นว่ามีกรณีใดบ้างที่ไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้ และเมื่อมีปัญหาก็จะต้องวินิจฉัยตามหลักที่ว่า "ข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324/2503

วินิจฉัยว่า คำสั่งใดของศาลชั้นต้น เมื่อไม่มีบทกฎหมายให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด หรือบัญญัติมิให้อุทธรณ์ฎีกาแล้ว คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งต่อศาลสูงได้

คำสั่งใด ๆ ของศาลล่าง เมื่อไม่มีบทบัญญัติให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาได้แล้ว คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกา คัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลสูงได้ เมื่อเป็นกรณีที่อุทธรณ์ได้แล้ว ควรอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะวินิจฉัยได้ การที่สั่งให้ทุเลาการบังคับหรือให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนนั้น เมื่อมีอุทธรณ์มาสู่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งได้ ไม่ใช่มีผลให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด

ตามป.วิ.พ. มาตรา 209 ไม่ได้ตัดอำนาจศาลที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีในเมื่อมีคำขอให้พิจารณาใหม่ เพราะคำขออาจเป็นความจริงมีเหตุที่ควรให้พิจารณาใหม่ แต่ศาลยังจะต้องฟังพยานของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน ถ้าไม่ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บังคับคดีไว้ก่อนได้แล้ว คำร้องขอให้พิจารณาใหม่อาจไม่มีผล และเสียหายแก่ผู้ขอให้พิจารณาใหม่ได้ จึงย่อมอยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็ได้

คดีนี้จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือน สพานและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ออกไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 140,000 บาท ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นรับคำร้องและนัดไต่สวน ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 209, 242 โจทก์ร้องคัดค้าน ศาลอนุญาตให้จำเลยหาผู้ค้ำประกันที่จะชำหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท การที่จำเลยของดการบังคับคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับการขับไล่ขอให้หมายจับจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือน

จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งและยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ และสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับดีว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาไม่มีเหตุจะทุเลาการบังคับให้ยกคำร้อง

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับ

จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์อีกฉบับหนึ่ง คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับว่าเป็นเรื่องของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งศาลชั้นต้นและขอให้รับคำร้องไว้พิจารณาต่อไป

ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ และรับคำร้องขอทุเลาการบังคับและได้สั่งทุเลาการบังคับ

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกว่า จำเลยขอให้พิจารณาคดีใหม่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนสืบพยานจำเลย ระหว่างไต่สวนจึงต้องงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา 209 ส่วนอุทธรณ์ฉบับหลังขอทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้งดการรื้อถอนโรงเรือนและสพานออกจากที่ของโจทก์
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งใด ๆ ของศาลล่าง เมื่อไม่มีบทบัญญัติให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาได้แล้ว คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลสูงได้ เมื่อเป็นกรณีที่อุทธรณ์ได้แล้ว ก็อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะวินิจฉัยได้ เมื่อเป็นกรณีที่อุทธรณ์ได้แล้ว ก็อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะวินิจฉัยได้ การสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนนั้น ไม่ใช่มีผลให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้งดการบังคับไว้ก่อน จึงเป็นการชอบแล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 209 ไม่ได้ตัดอำนาจศาลที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีในเมื่อมีคำขอให้พิจารณาใหม่ เพราะคำขออาจเป็นความจริงมีเหตุที่ควรให้พิจารณาใหม่ แต่ศาลยังจะต้องฟังพยานของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน ถ้าไม่ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บังคับคดีไว้ก่อนได้แล้ว คำร้องขอให้พิจารณาใหม่อาจไม่มีผล และเสียหายแก่ผู้ขอให้พิจารณาใหม่ได้ จึงย่อมอยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็ได้

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2530

ฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่ประการใดเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องของจำเลยที่ขอให้ถอนการยึดทรัพย์โดยวินิจฉัยว่าการยึดทรัพย์จำเลยกระทำ ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีไว้ระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ เป็นการยึดทรัพย์ที่ชอบด้วยกฎหมายไม่อาจเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้ ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาแต่เป็นคำสั่งโดยทั่วไป ซึ่งคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เพราะไม่มีบทกฎหมายจำกัดห้ามไว้

ในวันที่ศาลชั้นต้นแจ้งให้ศาลซึ่งได้รับมอบหมายให้บังคับคดีแทนให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยตามคำแถลงของผู้แทนโจทก์ จำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอให้งดหรือยกเลิกการออกหมายบังคับคดีเพราะได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลอุทธรณ์ไว้แล้ว และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นว่าให้งดการบังคับคดีไว้ระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ เรื่องทุเลาการบังคับคดี คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดการบังคับคดีเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 (2) และมีความหมายเพียงว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำสั่งดังกล่าวก็ให้งดการบังคับคดีตามคำสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีงดการบังคับคดีแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมเกิดผลแล้ว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลซึ่งดำเนินการบังคับคดีแทนทำการยึดทรัพย์ในภายหลัง แม้จะอ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งให้งดการบังคับคดี ก็เป็นการยึดทรัพย์ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งให้งดการบังคับคดีของศาลชั้นต้น ศาลย่อมมีอำนาจยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27.

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและเมื่อโจทก์ได้รับชำระเงินจากจำเลยแล้ว ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์โรงงานพิพาทและทะเบียนรถยนต์บรรทุก 4 คันให้แก่จำเลย และยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทำประกันสำหรับต้นเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยแถลงขอให้ใช้โรงงานพิพาท ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นประกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โรงงานพิพาทยังเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธินำมาเป็นประกัน และให้นัดพิจารณาหลักประกันในวันต่อมา

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ในวันนัดพิจารณาหลักประกัน จำเลยไม่มา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยไม่ได้รับการทุเลาการบังคับคดีตามคำสั่งศาล ในวันเดียวกันนั้นเองโจทก์จึงขอให้ดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยต่อไป ศาลแพ่งขอให้ศาลจังหวัดปทุมธานีสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลอุทธรณ์อีก กับขอให้งดหรือยกเลิกการออกหมายบังคับคดี เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ศาลแพ่งมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องทุเลาการบังคับคดี จนกว่าศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ปรากฏว่า ในวันที่ 29 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดปทุมธานี ได้ทำการยึดทรัพย์จำเลยไว้บางส่วนตามที่ผู้แทนโจทก์นำยึด จำเลยจึงยื่นคำร้องลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 ว่าผู้แทนจำเลยได้แจ้งให้ผู้แทนโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน แต่ผู้แทนโจทก์ไม่เชื่อและทำการยึดทรัพย์จำเลย จึงขอให้ศาลแพ่งแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี และศาลจังหวัดปทุมธานีทราบและมีคำสั่งถอนการยึดทรัพย์

ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า การยึดทรัพย์จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 29 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำสั่งของศาลที่ให้งดการบังคับคดีไว้ระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ในวันที่ 3 ธันวาคม 2527 การยึดทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้กระทำไปก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบคำสั่งศาล จึงไม่อาจเพิกถอนการยึดทรัพย์รายพิพาทนี้ได้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีนี้ไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์จะชี้ขาดเกี่ยวกับหลักประกัน ชั้นขอทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ตามที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ส่วนอุทธรณ์ฉบับที่สอง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดปทุมธานีดำเนินการยึดทรัพย์ไปโดยไม่ทราบว่ามีคำสั่งให้งดการบังคับคดีก็ตามแต่ก็ยังไม่ถูกต้องตามคำสั่งศาลแพ่ง เพราะศาลแพ่งสั่งงดการบังคับคดีไว้แล้วซึ่งผู้เกี่ยวข้องจักต้องปฏิบัติตามเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขตามที่เห็นสมควรได้ พิพากษาให้ถอนการยึดทรัพย์ตามคำร้องของจำเลย

โจทก์ฎีกาเฉพาะคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับหลัง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาประการแรกว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2 ข. ที่ว่าการบังคับคดีภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้งดบังคับคดีเป็นการยึดทรัพย์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟังไม่ขึ้นฎีกาของโจทก์ข้อนี้หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่ประการใดไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า คำสั่งของศาลแพ่งลงวันที่ 18 มกราคม 2528 ที่ว่า การยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายจึงไม่อาจเพิกถอนการยึดทรัพย์รายพิพาทได้ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งนี้ไว้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าว ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา แต่เป็นคำสั่งโดยทั่วไป ซึ่งคู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติจำกัดห้ามไว้ ศาลอุทธรณ์หาได้รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังโจทก์ฎีกาไม่

โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยนั้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอทุเลาการบังคับคดีด้วยในปัญหานี้ได้ความว่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 ที่ศาลแพ่งได้แจ้งศาลจังหวัดปทุมธานีให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยตามคำแถลงของผู้แทนโจทก์นั้นในวันเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่าจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอให้งดหรือยกเลิกการออกหมายบังคับคดีไว้ เพราะได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลอุทธรณ์ไว้แล้ว และศาลแพ่งได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นว่า ให้งดการบังคับคดีไว้ระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องทุเลาการบังคับคดีด้วย แต่ปรากฏว่าศาลแพ่งเพิ่งจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ให้งดการบังคับคดีเอาเมื่อวันที่ 28พฤศจิกายน 2527 ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดปทุมธานีทำการยึดทรัพย์รายพิพาทของจำเลยในวันที่ 29 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2529 จึงยังไม่ทราบคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลแพ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดปทุมธานีเพิ่งทราบคำสั่งอันหลังนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้งดการบังคับคดี เป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 292 (2) แม้บทกฎหมายมาตราดังกล่าวจะใช้คำว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดี เมื่อศาลได้ส่งคำสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบก็ตาม แต่ก็มีความหมายเพียงว่า เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำสั่งดังกล่าวก็ให้งดการบังคับคดีตามคำสั่ง หาได้มีความหมายเลยไปถึงว่าคำสั่งให้งดการบังคับคดีจะมีผลต่อเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบคำสั่งแล้วเท่านั้นไม่ ดังนั้นเมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 และได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีให้งดการบังคับคดีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2527 คำสั่งดังกล่าวย่อมเกิดผลแล้วแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดปทุมธานีจะอ้างว่า เพิ่งทราบคำสั่งให้งดการบังคับคดีในภายหลังก็ตาม ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดปทุมธานีทำการยึดทรัพย์จำเลยทั้งในวันที่ 29 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 จึงเป็นการยึดทรัพย์ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งให้งดการบังคับคดีของศาลแพ่ง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ไม่ถูกต้องนั้นได้ และคำสั่งดังกล่าวหาใช่เป็นการถอนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ไม่ และดังนั้นจึงไม่จำต้องมีกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงจะถอนการบังคับคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 (1)ทั้งไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมีการขอทุเลาการบังคับคดีดังโจทก์ฎีกาแต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลเห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดทรัพย์จำเลยโดยฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้งดการบังคับคดี ศาลย่อมมีอำนาจยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์ตามคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว

พิพากษายืน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147/2543

จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้คำปรึกษาในด้านเทคนิคพิเศษและด้านวิชาการเกี่ยวกับโครงการของจำเลย และมี ข้อสัญญาว่า หากคู่สัญญามีกรณีพิพาทเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวจะต้องเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการแห่งกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ชี้ขาด ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันว่าจะเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน

เมื่อสัญญาจ้างมีข้อความระบุชัดว่าคู่สัญญาต้องตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจาก ข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีที่โต้เถียงกันว่าจำเลยต้องชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้างซึ่งคู่กรณีจะต้องหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวหาได้ใช้บังคับแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องการตีความข้อความในสัญญาจ้างไม่

ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้สั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้เป็นที่สุด จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223

เมื่อข้อสัญญาในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 10 โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอ ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจาก วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญาจึงฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ขอให้ศาลจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่ามิใช่กรณีพิพาทที่เกิดจากการแปลความหมายของสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ … พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี …

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า ในกรณีที่มี ข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องจากการแปลความหมายในสัญญาจ้างให้คู่สัญญาพยายามหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการ ตกลงกัน แต่ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดตัดสินก่อน ดังนี้ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันว่าจะเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องถูกผูกพันโดยข้อสัญญานั้น กล่าวคือ ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้เสนอให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างประสงค์ให้มีอนุญาโตตุลาการขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาเรื่องการแปลความหมายของสัญญาจ้าง ไม่รวมถึงข้อพิพาทอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้น เห็นว่า สัญญาจ้าง ข้อ 12 วรรคสอง มีข้อความระบุชัดว่าคู่สัญญาต้องตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ที่โต้เถียงกันว่าจำเลยต้องชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ซึ่งคู่กรณีจะต้องหาทางระงับข้อพิพาทดังกล่าวด้วยการตกลงกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวหาได้ใช้บังคับแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องการตีความข้อความในสัญญาจ้างดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่เสนอ ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว

ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้สั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งมีใจความโดยสรุปว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประการใดแล้ว คู่ความที่ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นอาจยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์ได้เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเป็นที่สุด เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้เป็นที่สุด จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

กรณีที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อสัญญาในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ โดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยาน หรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่ความดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย" เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดี ของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2548

จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์จำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้จำเลยแก้ไขอุทธรณ์มาใหม่ แต่จำเลยไม่ได้แก้ไขอุทธรณ์ กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้คืนคำคู่ความไปทำมาใหม่ภายในกำหนด จึงเป็นคำสั่งในกรณีที่ศาลชั้นต้นตรวจคำคู่ความที่ยื่นต่อศาล แล้วมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปทำมาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มิใช่เป็นการตรวจอุทธรณ์ แล้วมีคำสั่งว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์เสียก่อน ผู้อุทธรณ์จึงอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 198 ทวิ แห่ง ป.วิ.อ. เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำคู่ความให้ทำมาใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามอุทธรณ์ไว้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งให้จำเลยที่อุทธรณ์ฟัง โดยไม่ต้องรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ก่อน

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง, 69 วรรคสี่ (ที่ถูกวรรคสาม) จำคุก 10 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์จำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้จำเลยแก้อุทธรณ์มาใหม่และยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน แล้วจะพิจารณาสั่ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้คืนคำคู่ความนี้ไปทำมาใหม่ภายใน 5 วัน แล้วจะพิจารณาสั่ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง แต่จำเลยยื่นก่อนศาลมีคำสั่งไม่รับ จึงไม่รับอุทธรณ์ฉบับนี้ จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งว่า จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่ง ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2546 ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ฟุ่มเฟือย คืนคำคู่ความให้ทำมาใหม่ แต่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์จำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้จำเลยแก้ไขอุทธรณ์มาใหม่ แต่จำเลยไม่ได้แก้ไขอุทธรณ์ กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2546 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้คืนคำคู่ความไปทำมาใหม่ภายในกำหนด จึงเป็นคำสั่งในกรณีที่ศาลชั้นต้นตรวจคำคู่ความที่ยื่นต่อศาล แล้วมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปทำมาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มิใช่เป็นการตรวจอุทธรณ์ แล้วมีคำสั่งว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์เสียก่อน ผู้อุทธรณ์จึงอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 198 ทวิ แห่ง ป.วิ.อ. เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำคู่ความให้ทำมาใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามอุทธรณ์ไว้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งให้จำเลยที่อุทธรณ์ฟัง โดยไม่ต้องรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ก่อน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 ว่า ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งก่อนศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 แล้วดำเนินการต่อไป.

ข้อสังเกตประการที่สอง
กระบวนพิจารณา ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาแตกต่างไปจากกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเป็นการพิจารจากฟ้องอุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาให้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ปกติศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่ได้ออกนั่งพิจารณาสืบพยานอย่างศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตามการพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามิใช่ตรวจสอบว่าศาลชั้นต้นกระทำผิดหรือถูกเท่านั้น แต่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากจากศาลชั้นต้น โดยทำการพิจารณาคดีนั้นอีกครั้งหนึ่งในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา และเมื่อคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาที่จะทำการพิจารณาแล้ว กล่าวคือเมื่อมีการรับอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป แม้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในระหว่างนั้น เช่นมีคำสั่งในคำร้องคำขอ ที่คู่ความยื่นขึ้นมาระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ถือว่าเป็นการกระทำแทนศาลอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้น ดังนั้นหากคู่ความไม่พอใจคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในฐานะดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์ ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลอุทธรณ์ และหากศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งใหม่ตามอำนาจของศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2530

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์แล้ว กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยศาลชั้นต้นทำแทน ฉะนั้นเมื่อคู่ความไม่พอใจคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในฐานะดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์ ก็ชอบที่จะร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือรอจนกว่าศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์แล้วไปร้องต่อศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์ไม่พอใจในคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นก็ชอบที่จะสั่งใหม่ได้ตามอำนาจศาลอุทธรณ์.(อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่1184/2495)

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งสี่เรื่อง มรดก ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นอุทธรณ์และสั่งให้ส่งสำเนาให้ฝ่ายโจทก์

จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นงดส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่คู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้สั่งให้ศาลชั้นต้นงดส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์สั่งว่า เมื่อจำเลยเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะอุทธรณ์ได้ตามลักษณะอุทธรณ์ จำเลยจะยื่นเป็นคำร้องโดยตรงมายังศาลอุทธรณ์ไม่ได้เพราะคดียังไม่อยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยศาลชั้นต้นทำแทน ฉะนั้น เมื่อคู่ความไม่พอใจคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในฐานะดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์อย่างใดก็ชอบที่จะร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือรอจนกว่าศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์แล้วไปร้องต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ซึ่งถ้าศาลอุทธรณ์ไม่พอใจในคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งใหม่ได้ตามอำนาจศาลอุทธรณ์ เทียบตามฎีกาที่ 1184/2495 ระหว่างนายชื่น ดำเนินงาม โจทก์ บริษัทปิ่นแก้ว จำกัด โดยนายสอน ปั้นน้อย กรรมการผู้จัดการกับพวกจำเลย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์สั่งว่ากรณีดังกล่าวจะยื่นคำร้องโดยตรงไปยังศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะคดียังไม่อยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่กรณีนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งไปเสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง และเห็นว่า โจทก์เป็นคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการที่จำเลยที่ 1 ร้องคัดค้านผู้พิพากษาโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์นั้นจึงชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2527 ของจำเลยที่ 1 ต่อไป.

ข้อสังเกตประการที่สาม
การอุทธรณ์หรือฎีกาเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ที่มีลักษณะเป็นการคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในกรณีอุทธรณ์ หรือในกรณีฎีกาก็คือคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ซึ่งต่างกับคำฟ้องของศาลชั้นต้น เพราะคำฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นการเสนอข้อหาต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น โจทก์ฟ้องจำเลยก็เป็นการเสนอข้อหาต่อจำเลยว่าเขาโต้แย้งสิทธิอย่างไรแต่ในชั้นอุทธรณ์จะมีลักษณะเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลอุทธรณ์ คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ในชั้นฎีกาก็เช่นเดียวกันเป็นการคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะฉะนั้นลักษณะจึงแตกต่างกัน ผลที่แตกต่างกันก็คือในเรื่องของฟ้องเคลือบคลุมถ้าเป็นคำฟ้องในศาลชั้นต้น ถ้าคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม จำเลยจะต้องให้การต่อสู้ ถ้าจำเลยไม่ให้การต่อสู้ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของอุทธรณ์ ถ้าฟ้องอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งหรือเคลือบคลุม ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นเรื่องของการเสนอข้อหาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2097/2541

อุทธรณ์เป็นคำฟ้องชนิดหนึ่ง ดังนั้น คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อในขึ้นมาอุทธรณ์คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นให้ชัดแจ้งมาในคำฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งหมายความรวมตลอดไปถึงคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ส่วนเนื้อหาของคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น หากไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อุทธรณ์แล้วก็ไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้องอุทธรณ์โดยละเอียด ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงวดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยบรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์ใจความว่า โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากจำเลย500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำฟ้องโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยค้างดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด มิใช่นับแต่วันกู้ และดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปแล้วมิใช่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากแต่เป็นอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งขัดต่อกฎหมาย โจทก์ส่งหนังสือทวงถามโดยมิชอบ จำเลยมีพยานหลักฐานพร้อมที่จะสืบแสดงตามข้อต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงวดชี้สองสถานและงดสืบพยานจึงเป็นการตัดสิทธิของจำเลยดังนี้ เห็นได้แล้วว่าจำเลยอุทธรณ์เรื่องอะไรด้วยเหตุผลอะไรทั้งในคำสั่งของศาลชั้นต้นก็มิได้ให้เหตุผลอันจะทำให้จำเลยสามารถยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นมาโต้แย้งได้อุทธรณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246ที่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาบังคับใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลมนั้นหมายถึงให้อนุโลมใช้บางเรื่องเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 จึงเป็นการไม่ชอบ

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 937,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าได้กู้เงินโจทก์จริง แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะมิได้กำหนดไว้ในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน512,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน500,000 บาท นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานส่วนโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำฟ้องซึ่งต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 จำเลยจึงต้องบรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้อง คำให้การและคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้บรรยายเนื้อหาดังกล่าวในอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย และพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2533จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน437,500 บาท
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้อุทธรณ์จะเป็นคำฟ้องชนิดหนึ่งแต่ก็เป็นคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ คู่ความที่อุทธรณ์จะต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในคำฟ้องอุทธรณ์อย่างไรเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย" ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดขึ้นมาอุทธรณ์คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นให้ชัดแจ้งมาในคำฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งหมายความรวมตลอดไปถึงคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร สำหรับเนื้อหาของคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น หากไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อุทธรณ์แล้วก็ไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้องอุทธรณ์โดยละเอียดคดีนี้ในวันนัดชี้สองสถานศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งที่มิชอบจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยจำเลยบรรยายมาในคำฟ้องอุทธรณ์ใจความว่า โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากจำเลย 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำฟ้องโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยค้างดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดมิใช่นับแต่วันกู้ และดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปแล้วมิใช่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากแต่เป็นอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งขัดต่อกฎหมาย โจทก์ส่งหนังสือทวงถามโดยมิชอบจำเลยมีพยานหลักฐานพร้อมที่จะสืบแสดงตามข้อต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานจึงเป็นการตัดสิทธิของจำเลยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวพอเห็นได้แล้วว่า จำเลยอุทธรณ์เรื่องอะไรด้วยเหตุผลอะไร ในคำสั่งของศาลชั้นต้นก็มิได้ให้เหตุผลอะไรมากอันจะทำให้จำเลยสามารถยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นมาโต้แย้งได้อุทธรณ์ของจำเลยที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้วที่มาตรา 246 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาบังคับใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลมนั้น หมายถึงให้อนุโลมใช้บางเรื่องเท่านั้น หาใช่ทุกเรื่องไม่

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้วินิจฉัยว่า สาระสำคัญของอุทธรณ์ฎีกาซึ่งเป็นคำฟ้องชนิดหนึ่งต้องบรรยายให้ชัดแจ้งว่าคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องอะไร และด้วยเหตุผลอะไร การคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในกรณีอุทธรณ์หรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีที่เป็นฎีกา จะต้องคัดค้านในเรื่องที่ต้องการคัดค้านให้ชัดแจ้ง ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ไม่จำเป็นเพราะมีอยู่แล้วในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ซึ่งหมายความว่า โจทก์ฟ้องว่าอย่างไร จำเลยให้การว่าอย่างไร ทางนำสืบรวมถึงผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณีไม่จำเป็นต้องกล่าวก็ได้สาระสำคัญที่จะต้องกล่าวก็คือ จะต้องกล่าวถึงข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณีมาให้ชัดเจน มิฉะนั้นเป็นฟ้องอุทธรณ์หรือฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้ ข้อนี้เป็นหลักที่ถือปฏิบัติกันจนถึงปัจจุบัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2534

จำเลยให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทและศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้วินิจฉัยแต่เพียงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจึงมีอำนาจฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยเรื่องโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือไม่ อันจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การปรับบทกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ตามที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัย จึงไม่ชอบ โจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทที่ให้เช่าซื้อก็ตาม แต่บริษัท ท.เจ้าของรถยนต์พิพาทยอมให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าซื้อได้และโจทก์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยได้ หากจำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา ดังนี้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะกลับมาอ้างว่าขณะทำสัญญาโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาท ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164.


โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ในราคา520,000 บาท ผ่อนชำระ 36 งวด จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1ผิดนัดตั้งแต่ งวด ที่สองโดยชำระค่าเช่าซื้อบางส่วนและหลังจากนั้นไม่ชำระอีกเลย โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2525 ในสภาพทรุดโทรม โจทก์ได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมรถยนต์พิพาทเสื่อมสภาพ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาทเป็นเงิน 188,683.93 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 188,683.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องเมื่อเกิน 6 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 23,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลย ทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการไม่ชอบนั้นปัญหานี้จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีว่า เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1 ต้องการจะเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้อฮีโน่ หกล้อ พนักงานโจทก์มาไต่ถามจำเลยที่ 1 และว่ารถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวบริษัทฮีโน่ มอเตอร์เซลส์ จำกัด ให้เช่าซื้อในราคา 520,000บาท ถ้าต้องการเช่าซื้อทางบริษัทเจ้าของรถให้วางเงินมัดจำ 5,000 บาทและชำระเงินดาวน์อีก 75,000 บาท ในการชำระเงินแต่ละครั้งเพื่อความสะดวกให้จำเลยชำระผ่านโจทก์ โจทก์จะเป็นผู้จัดส่งให้แก่บริษัทเจ้าของรถส่วนรถนั้นบริษัทจะจัดส่งผ่านมาทางโจทก์ให้จำเลยไปรับมอบในตอนหลัง จำเลยทั้งสองตกลงตามที่พนักงานของโจทก์แนะนำต่อมาพนักงานของโจทก์ได้นำเอาแบบพิมพ์บางส่วนของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโดย ยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ให้จำเลยที่ 1ลงชื่อในช่องผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันอย่างละ 2 ชุด และบอกว่าจะส่งสัญญานี้ไปให้บริษัทเจ้าของรถจำเลยได้ชำระเงินมัดจำและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์รับไปรวมทั้งสิ้น

80,000 บาท และรถยนต์คัดดังกล่าวนั้นเจ้าของได้ส่งผ่านโจทก์มอบให้แก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทซึ่งชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไว้วินิจฉัยเพียงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจึงมีอำนาจฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยเรื่องโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือไม่ อันจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ การปรับบทกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ตามที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยนั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย แต่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไม่เสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ได้ความจากนายถนัดพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาจากบริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ในขณะโจทก์ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้อรถยนต์พิพาทนั้นโจทก์ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ปัจจุบันโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อเรียบร้อยแล้วตามสำเนาใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 ระหว่างสัญญาเช่าซื้อบริษัทดังกล่าวได้ยอมให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าซื้อได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีหากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทครบ โจทก์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อโจทก์ยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมา โจทก์ได้ขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วในราคา 350,000 บาทส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้กระทำการแทนบริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ดังคำให้การของจำเลยทั้งสอง โจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทที่ให้เช่าซื้อก็ตาม แต่บริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์-เซลส์ จำกัด ยอมให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าซื้อได้และโจทก์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ได้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา ดังนี้ จำเลยที่ 1ต้องผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะกลับมาอ้างว่าขณะทำสัญญาโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปอีกว่า มูลคดีของโจทก์อาศัยเหตุจากโจทก์อ้างว่า ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมา ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาอันเป็นสัญญาประธาน จึงต้องถืออายุความตามสัญญาประธานซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาไว้เฉพาะโดยมีกำหนดอายุความ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 563 เมื่อค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาทอาศัยเหตุจากสัญญาประธาน ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นส่วนอุปกรณ์เท่านั้น อายุความจึงต้องมีกำหนด 6 เดือนค่าเสียหายดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาทไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่มีอายุความ 6 เดือนดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่
พิพากษายืน

ข้อสังเกตประการที่สี่

กฎหมายปัจจุบันยึดถือสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาโดยอาศัยจำนวนทุนทรัพย์เป็นหลักในการพิจารณาว่าในชั้นอุทธรณ์ต้องมีทุนทรัพย์เกินกว่า 50,000 บาท ชั้น ฎีกาต้องเกินกว่า 200,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมซึ่งพิจารณาสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาจากทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้นว่ามีเท่าใด ถ้าทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้นเกิน 200,000 บาท ก็สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ตามกฎหมายใหม่ ต้องพิจารณาว่าในชั้นอุทธรณ์มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เท่าใด ถ้าไม่เกิน 50,000 บาท หรือในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ก็ต้องห้าม ซึ่งตอนยกร่างกฎหมายก็มีการเถียงกันมาก ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าที่เสนอแก้ไขไม่เป็นธรรม การพิจารณาจากทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้นน่าจะถูกต้องแล้วโดยให้เหตุผลว่าทำให้เกิดความเสมอภาคกัน เพราะถ้าทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท ทั้งสองฝ่ายก็อุทธรณ์ฎีกาได้ตลอด แต่ในปัจจุบันถ้าฟ้องกัน 200,000 บาท โจทก์ชนะคดีได้มา 190,000 บาท ในกรณีเช่นนี้จำเลยอุทธรณ์ได้เพราะว่าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เกิน 50,000 บาท แต่โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้ เพราะทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์มีเพียง 10,000 บาท สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับทุนทรัพย์จึงแตกต่างไปจากกฎหมายเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้วที่โต้เถียงกันว่าจะเกิดความเสมอภาคหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ก็คงต้องยุติ

ข้อสังเกตประการที่ห้า

การอุทธรณ์ฎีกาจะต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาล คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็ต้องโต้แย้งไปที่ศาลฎีกาเป็นไปตามลำดับชั้นศาลซึ่งเป็นหลัก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7601/2541

ตามสัญญาประกัน ว. ผู้ประกันเป็นผู้ทำสัญญาประกันไว้ต่อศาล ผู้ประกันจึงเป็นคู่สัญญากับศาล หากมีการผิดสัญญาประกันดังกล่าวผู้ประกันก็เป็นฝ่ายที่อาจถูกบังคับตามสัญญาประกันแต่เพียงผู้เดียว จำเลยมิใช่คู่สัญญาประกันกับศาล จึงหาต้องรับผิดตามสัญญาประกันหรืออาจถูกบังคับตามสัญญาประกันไม่การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นของดหรือลดค่าปรับจึงไม่มีผลอันจะก่อให้เกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ของผู้ประกันได้ อุทธรณ์ของผู้ประกันจึงเป็นอุทธรณ์ที่มิชอบเนื่องจากมิได้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามลำดับชั้นศาล ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของผู้ประกัน ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของดหรือลดค่าปรับของจำเลย และพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกันจึงชอบแล้ว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1),(2)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันประกันตัวจำเลยไป โดยทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลว่า ผู้ประกันหรือจำเลยจะขอปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล มิฉะนั้นผู้ประกันยอมรับผิดชอบใช้เงิน 200,000 บาท ผู้ประกันผิดสัญญาประกันโดยไม่ส่งตัวจำเลยตามนัดต่อศาลศาลชั้นต้นจึงสั่งปรับผู้ประกันเป็นเงิน 200,000 บาท

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ลดค่าปรับ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกัน
ผู้ประกันฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันว่าผู้ประกันมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของดหรือลดค่าปรับของจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2539 นายวินัย อ่อนคงผู้ประกันเป็นผู้ทำสัญญาประกันไว้ต่อศาล ผู้ประกันจึงเป็นคู่สัญญากับศาล หากมีการผิดสัญญาประกันดังกล่าวผู้ประกันก็เป็นฝ่ายที่อาจถูกบังคับตามสัญญาประกันแต่เพียงผู้เดียวจำเลยมิใช่คู่สัญญาประกันกับศาล จึงหาต้องรับผิดตามสัญญาประกันหรืออาจถูกบังคับตามสัญญาประกันไม่ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นของดหรือลดค่าปรับจึงไม่มีผลอันจะก่อให้เกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ของผู้ประกันได้ อุทธรณ์ของผู้ประกันจึงเป็นอุทธรณ์ที่มิชอบเนื่องจากมิได้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามลำดับชั้นศาลที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของผู้ประกัน ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของดหรือลดค่าปรับของจำเลย และพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกันจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

แต่ก็มีข้อยกเว้นคือ ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ

(1)กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ในวิธีพิจารณาของศาลพิเศษต่าง ๆ เช่น ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ ก็สามารถที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวไปยังศาลฎีกาโดยตรง โดยไม่ผ่านศาลอุทธรณ์หรือในกรณีคดีของศาลล้มละลาย คดีของศาลภาษีอากรและศาลแรงงานก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้โดยตรง

(2)กรณีตามมาตรา 223 ทวิ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า FROG LEAP หมายความถึงการกระโดดกบ หรือก้าวกระโดด ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิคู่ความอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาได้เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายยินยอม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
"ในกรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ผู้อุทธรณ์อาจขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งได้สั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายให้สั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ มิฉะนั้นให้สั่งยกคำร้องในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ให้ถือว่าอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตหรือยกคำร้องในกรณีนี้ให้เป็นที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง

ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ตามวิธีการในวรรคหนึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลฎีกาส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป"

(3)กรณีตามมาตรา 252 การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาไปยังศาลฎีกา

มาตรา 252 "ถ้าคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลฎีกาเห็นจำเป็นจะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลล่างส่งสำนวนนั้นไปยังศาลฎีกา"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2513

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาของจำเลยแล้ว จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือใช้สิทธิใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 5388

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง

จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมกับร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ต่อไป ก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลภายใน 10 วันนับแต่วันฟังคำสั่ง

จำเลยไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาล แต่ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย หากจำเลยยังติดใจอุทธรณ์ก็ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 10 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง

จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา

วันที่ 9 กันยายน 2511 จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาความว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ยังไม่ถึงที่สุด แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิจะฎีกาได้ ก็ขอให้ขยายเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมออกไปอีกระยะหนึ่ง

ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องฎีกาของจำเลย

วันที่ 23 กันยายน 2511 จำเลยยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่ 9 กันยายน 2511 และให้รับคำร้องฎีกาของจำเลยส่งไปยังศาลฎีกา

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยเสีย

จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา

มีปัญหาว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาของจำเลยแล้ว จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าในกรณีเช่นนี้ จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3810/2545

จำเลยยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นยกคำร้องเพราะจำเลยวางเงินไม่ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งใหม่ให้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไปยังศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับฎีกาและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 232 ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและสั่งรับหรือไม่รับฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา และจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาเพื่อสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบแต่เมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งต่อมาอันเนื่องจากคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวอาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หรือไม่แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับฎีกา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงชอบแล้ว

การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ผู้ยื่นคำร้องมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 แต่จำเลยเพียงแต่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางโดยมิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบ

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน162,091 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน160,929.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 24 มีนาคม2541) ต้องไม่เกิน 1,161.59 บาท

จำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับรองให้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่วางเงินให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับคำร้อง ต่อมาวันที่ 4 กันยายน2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในวันที่18 สิงหาคม 2543 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่วางเงินให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่รับคำร้อง

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2543 และฉบับวันที่ 4 กันยายน 2543 ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 หาจำต้องให้จำเลยวางเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ซึ่งเป็นวิธีการในชั้นอุทธรณ์ไม่

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับวันที่ 14 กันยายน 2543

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "จำเลยไม่วางเงินให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับคำร้อง..." ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งใหม่เป็นว่า ให้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองส่งไปยังศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องฉบับนี้ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม วันที่ 14 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นที่จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ประกอบกับมาตรา 232 บัญญัติให้อำนาจศาลชั้นต้นไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาเพื่อสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งต่อมาอันเนื่องมาจากคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวอาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หรือไม่ แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2543 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2543 ให้เสร็จไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกานั้น ผู้ยื่นคำร้องมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ซึ่งนำมาใช้ในการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 คดีนี้จำเลยทั้งสองเพียงแต่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางต่อศาลชั้นต้น มิได้นำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาวางหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว"

พิพากษายืน ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2543

การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223

"ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 138, 168, 188 และ 222 และในลักษณะนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด"

บทบัญญัติมาตรา 223 นี้ บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์และอุทธรณ์ได้ทุกเรื่อง ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาแพ่ง มาตรา 131 อันรวมถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี และคำพิพากษาหรือคำสั่งที่วินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้อง คำขอ ที่คู่ความหรือบุคคลภายนอกยื่นต่อศาลในระหว่างการพิจารณาและที่ยื่นต่อศาลในชั้นบังคับคดีด้วย ส่วนการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ก็เป็นไปตามหลักการที่ว่าการอุทธรณ์ต้องเป็นไปตาม ลำดับชั้นศาล

คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 289/2523

การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมฎีกา ผู้ร้องต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ตามลำดับชั้นของศาลจะอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4378/2545

จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้องเพราะจำเลยไม่ไปศาลศาลจึงสั่งว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวก็ชอบที่จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณานัดไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างเหตุมิได้จงใจไม่มาศาลในวันนัดไต่สวน ขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าไต่สวนใหม่จึงไม่ชอบเพราะกรณีมิใช่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามมาตรา 27 ฉะนั้น กระบวนพิจารณานับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยและนัดไต่สวนตลอดมาจนกระทั่งมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาของจำเลยจึงถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาใช้บัตรเครดิตจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 375,778.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้อง และได้อนุญาตให้จำเลยเลื่อนการไต่สวนในนัดแรก แต่ครั้นถึงนัดที่ 2 วันที่ 30 สิงหาคม 2543 จำเลยไม่ไปศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ ให้ยกคำร้องวันเดียวกัน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องและนัดไต่สวน ครั้นถึงวันนัดจำเลยไม่ไปศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่มีพยานมาสืบ ให้ยกคำร้อง ดังนี้ หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวก็ชอบที่จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณานัดไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยต่อไป แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี การที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2542 อ้างเหตุมิได้จงใจไม่มาศาลในวันนัดไต่สวน ขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าไต่สวนใหม่จึงมิชอบ เพราะกรณีมิใช่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะทำการไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เสียเองตามที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ให้อำนาจไว้ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งยกคำร้องฉบับ ลงที่ 30 สิงหาคม 2542 เสียแต่ต้น ฉะนั้น กระบวนพิจารณานับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2542 ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยและนัดไต่สวนตลอดมาจนกระทั่งมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาของจำเลยจึงถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้"

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาจำเลยคืนค่าคำร้องและค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5875/2545

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในลักษณะสัญญาหลายประเภท โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น การที่จำเลยขอสินเชื่อโดยทำสัญญากับโจทก์หลายประเภท และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องและโจทก์มีสิทธินำมาฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันได้ ค่าขึ้นศาลที่โจทก์มีหน้าที่ชำระตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 1 (ก) จึงเท่ากับสองแสนบาทซึ่งเป็นอัตราสูงสุด จำเลยซึ่งเป็นคู่ความที่มีหน้าที่ต้องชำระแทนโจทก์หากตนเป็นฝ่ายแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีสิทธิคัดค้านและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มโดยแยกตามมูลหนี้แต่ละสัญญาได้

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน พร้อมดอกเบี้ย รวมยอดหนี้ถึงวันฟ้อง 17,132,368.36 บาท โดยเสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์รวมกันทุกสัญญา 200,000 บาท ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มโดยแยกคำนวณตามทุนทรัพย์แต่ละสัญญาโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จำเลยยื่นคำคัดค้าน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แต่ละสัญญารวมเป็นเงิน 12,426,086.70 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยนำเงินจำนวน 2,459,862.24 บาท ซึ่งจำเลยชำระหนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 หักชำระเป็นดอกเบี้ยและต้นเงินจากยอดหนี้ในวันดังกล่าวออกเสียก่อนหากจำเลยไม่ชำระหรือชำระ ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับค่าขึ้นศาลโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ และอุทธรณ์คำพิพากษาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีใน ชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา คดีอยู่ระหว่างศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในลักษณะสัญญาหลายประเภทโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น ดังนี้ การที่จำเลยขอสินเชื่อ โดยทำสัญญากับโจทก์หลายประเภท และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ มูลหนี้ทั้งหมด จึงเกี่ยวข้องและโจทก์มีสิทธินำมาฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันได้ค่าขึ้นศาลที่โจทก์มีหน้าที่ชำระตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 1 (ก) จึงเท่ากับสองแสนบาทซึ่งเป็นอัตราสูงสุด ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มโดยแยกตามมูลหนี้แต่ละสัญญา จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกิน

กว่าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียตามกฎหมาย และจำเลยซึ่งเป็น คู่ความฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระแทนโจทก์หากตนเป็นฝ่ายแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมถือได้ว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีสิทธิคัดค้านและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มจากโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินสองแสนบาทแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5810/2548

โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์ไม่ชอบ แต่ในวันที่ยื่นฎีกาโจทก์ได้ยื่นคำร้องลักษณะเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้น ด้วยโดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้อนก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 โจทก์จะใช้สิทธิฎีกาคำสั่งดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาไม่ได้

ข้อสังเกตการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการขอขยายเวลา

ตามที่กล่าวมาแล้วว่าการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามหลักการอุทธรณ์ฎีกาต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่นการอุทธรณ์ข้อกฎหมายต่อศาลฎีกาตามมาตรา 223 ทวิ การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาไปยังศาลฎีกาตามมาตรา 252 เป็นต้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252
"ถ้าคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลฎีกาเห็นจำเป็นจำต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลล่างส่งสำนวนนั้นไปยังศาลฎีกา"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2507

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าชนะคดีโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้ศาลบังคับโจทก์นำค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นสั่งว่าคำพิพากษาของศาลฎีกามีความหมายว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียม ตลอดจนค่าทนายสามศาลแทนโจทก์ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ 3 กรณีเช่นนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 223 จะอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2509

ศาลชั้นต้นยกคำร้องโจทก์ซึ่งขอขยายเวลายื่นฎีกา ไม่ใช่คำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกา ตลอดจนยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาหาได้ไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินในสิทธิครอบครองของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารจำเลยต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลยคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าที่ดินเป็นของจำเลย ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นฎีกา

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลชั้นต้นสั่งว่า ที่โจทก์ทำคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ต้องทำเป็นคำฟ้อง ไม่รับคำร้อง

โจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาขยายระยะเวลาให้โจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโจทก์ซึ่งขอขยายเวลายื่นฎีกานั้นไม่ใช่เป็นคำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกาตลอดจนยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาหาได้ไม่
พิพากษายกฎีกาโจทก์

คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 688/2516

ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายเวลาฎีกาแก่จำเลย จำเลยไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาขึ้น มาตามลำดับ จะยื่นคำร้องตรงต่อศาลฎีกาให้ขยายเวลาฎีกาแก่จำเลยหาได้ไม่

คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 1540/2530

ความว่า จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จักขยายให้ ให้ยกคำร้อง ฯลฯ

จำเลยเห็นว่า คดีนี้ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 16 กรกฎาคม 2530แต่เนื่องจากจำเลยไปทำธุรกิจที่ต่างจังหวัดและเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2530 ว่าทนายจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาต่อศาลจึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยจะหาทนายใหม่ได้ทัน นับว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้ขยายเวลายื่นฎีกาออกไป 10 วันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลฎีกา

หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 71 แผ่นที่ 3)

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องมิให้เกินกว่า 7,500 บาทด้วย

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2530

จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 66)

จำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องนี้ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาอ้างว่าจำเลยยื่นฎีกาพ้นกำหนด จึงไม่รับฎีกา (อันดับ 69,68)

คำสั่ง

การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขยายระยะเวลายื่นฎีกา ผู้ร้องต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามลำดับชั้นของศาลการอุทธรณ์คำสั่งตรงมายังศาลฎีกา เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ให้ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2536

ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ เพราะวางเมื่อพ้นกำหนดฎีกา เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาใช่การสั่งเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไปตามลำดับชั้นศาล ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่ 1ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาได้

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ชดใช้ราคา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยและชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาครบถ้วนแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์แทนและให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 40,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน60,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมมีกำหนด 10 วัน โดยอ้างเหตุว่ายังไม่พร้อมเรื่องการวางเงินค่าขึ้นศาล โดยยื่นในวันที่ 4 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะยื่นฎีกาได้ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 อ้างเหตุเพียงว่า ยังไม่พร้อมเรื่องการวางเงินค่าขึ้นศาล โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่สมควรแต่อย่างใดเลย จึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามที่ขอ และสั่งฎีกาว่า จะพิจารณาสั่งเมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาวางครบถ้วนและภายในกำหนดแล้ว โดยสั่งในวันที่7 มกราคม 2536 และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อให้มาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 11 มกราคม 2536 ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาล

ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงขอวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในวันที่ 4 มกราคม 2536 อันเป็นวันสุดท้ายที่จะยื่นฎีกาได้ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2536 และนัดให้จำเลยที่ 1มาฟังคำสั่งในวันที่ 11 มกราคม 2536 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งไม่อนุญาตในวันที่11 มกราคม 2536 และจะต้องนำค่าธรรมเนียมทั้งหมดมาวางศาลในวันเดียวกันนั้น แต่ปรากฏว่าเพิ่งมาวางในวันนี้ซึ่งพ้นกำหนดฎีกาไปแล้ว จึงไม่อนุญาต

จำเลยที่ 1 ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ เพราะวางเมื่อพ้นกำหนดฎีกา เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาใช่การสั่งเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไปตามลำดับชั้นศาล ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกาได้ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 216/2532

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ขยายระยะเวลาการวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ทั้งสี่ เป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่เห็นด้วย ก็ชอบที่จะคัดค้านต่อศาลฎีกาได้ การที่โจทก์ยื่นคำขอขยายระยะเวลาการวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาโดยทำเป็นคำแถลง มิใช่การขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โจทก์มีความประสงค์เพียงว่าขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลาชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ใหม่และศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดเวลาให้โจทก์ได้มีโอกาสวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาได้ ต่อมาโจทก์ได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจนครบภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ในขณะที่จำเลยที่ 2 โอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 41แห่งพระราชบัญญัตินี้ แม้ต่อมาพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ก็ไม่ลบล้างสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อน เมื่อจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทั้งสี่ทราบพร้อมทั้งราคาที่จะขายและวิธีการชำระหนี้โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 คืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ในราคาและตามวิธีการชำระเงินที่จำเลยที่ 2ได้ขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามมาตรา 41 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 โจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิซื้อที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวจากจำเลยก่อน ตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ยินดีชดใช้ราคาให้จำเลยทันทีเมื่อประสงค์จะขาย และบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยให้เพิกถอนการซื้อขายรายนี้เสีย จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทเฉพาะส่วนดังกล่าวให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยที่ 1ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ไม่เคยให้โจทก์เช่า และไม่เคยขายที่พิพาทให้จำเลยอื่น จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ให้การว่าโจทก์ไม่ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่พิพาทแก่โจทก์ และโจทก์ไม่ได้เสนอราคาที่จะซื้อคืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ภายใน 30 วันตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 โอนที่พิพาทเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ 3ที่ 4 เป็นการยกให้ จึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3และจำเลยที่ 4 ขายที่นาตำบลบางพึ่ง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 จำนวน 4,800 ส่วน ใน 5,860 ส่วนให้แก่โจทก์ในราคา 72,000 บาท หากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนากับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 560 ตำบลบางพึ่ง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 4,800 ส่วนใน 5,860 ส่วน ซึ่งเดิมเป็นของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ในราคา 120,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นตามลำดับ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่เช่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เนื้อที่ 12 ไร่ จากจำเลยที่ 2ทำนา เมื่อเดือนเมษายน 2524 โจทก์ที่ 4 ได้ขอซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 จากจำเลยที่ 2 ในราคา 72,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมขายให้ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 ได้โอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ในราคา 60,000 บาท โดยไม่ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงจะขายที่ดินพิพาท พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล เพื่อแจ้งให้โจทก์ผู้เช่าที่ดินพิพาททำนาทราบภายใน 15 วัน โจทก์ที่ 3 จึงร้องต่อคณะกรรมการดังกล่าวขอซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2ที่ขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 คืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่จำเลยที่ 3ที่ 4 ไม่ยอมขาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 คืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า

1. ที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ทั้งสี่และรับฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ไว้นั้น ชอบหรือไม่

2. โจทก์ทั้งสี่จะต้องซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2ที่ขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 คืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในราคาเท่าใด

ปัญหาข้อแรก ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ทั้งสี่ เป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่เห็นด้วย ก็ชอบที่จะคัดค้านต่อศาลฎีกาได้ ที่จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า การขอขยายระยะเวลาของโจทก์มิได้ทำเป็นคำร้อง ทั้งมิได้แสดงว่ามีพฤติการณ์พิเศษดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำแถลงขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา มิได้ทำเป็นคำร้องก็ตาม แต่คงไม่ได้หมายความถึงการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โจทก์มีความประสงค์เพียงว่าขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลาชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ใหม่ด้วย และศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้เวลาแก่โจทก์ได้มีโอกาสวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาได้ ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจนครบภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและสั่งรับฎีกาของโจทก์ภายหลังที่โจทก์วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาครบถ้วนแล้วภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อสุดท้าย ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2524ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 2 ได้โอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไปแล้ว จึงเห็นได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 2 โอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติ นี้ แม้ว่าต่อมาพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ก็ไม่อาจลบล้างสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อน เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4ไปโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทั้งสี่ทราบ พร้อมทั้งราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงิน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 คืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ในราคาและตามวิธีการชำระเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามมาตรา 41 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ในราคาเงินสด60,000 บาท แต่ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2คืนแก่โจทก์ทั้งสี่ในราคา 72,000 บาท ซึ่งเท่ากับเป็นการสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงพิพากษาให้ไปตามนี้ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 560 ตำบลบางพึ่ง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเฉพาะส่วน 4,800 ส่วน ใน 5,860 ส่วน ซึ่งเดิมเป็นของจำเลยที่ 2ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ในราคา 72,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3896/2534

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาและค่าทนายความที่จะใช้แทนโจทก์ให้แก่จำเลย และต่อมามีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นคำสั่งศาลที่เกี่ยวเนื่องกับการรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลย หาใช่เป็นเรื่องการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 อย่างเดียวไม่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา จำเลยต้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาไปยังศาลฎีกาตามมาตรา 252 จำเลยอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ.

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์30,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 6 เดือน และให้ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวไว้แก่โจทก์ครบกำหนดแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินคืนโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 111,185.59 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเสนอชำระหนี้แต่โจทก์ไม่รับและโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย หากจะมีดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็ไม่เกิน 25,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 111,185.59บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1จำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาและยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาออกไป 15 วัน อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไปธุรกิจการค้าต่างจังหวัดยังไม่กลับ และยังไม่ได้เงินมาเสียค่าธรรมเนียมศาลศาลชั้นต้นอนุญาต ก่อนครบกำหนดที่ศาลอนุญาตจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาออกไปอีก 10 วันโดยอ้างว่ามีอุบัติเหตุรถชนกันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถหาเงินมาวางเป็นค่าธรรมเนียมศาลได้ทัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอีก ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา และค่าทนายความที่จะใช้แทนโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ออกไปอีกและต่อมามีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นคำสั่งศาลที่เกี่ยวเนื่องกับการรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นเรื่องการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 อย่างเดียวแต่อย่างใดไม่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกามายังศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ"
พิพากษายืน.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23
"เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252
"ถ้าคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลฎีกาเห็นจำเป็นจำต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลล่างส่งสำนวนนั้นไปยังศาลฎีกา"

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US