การจับกุมมิชอบกับการฟ้องคดีอาญา

การจับกุมมิชอบกับการฟ้องคดีอาญา
ตำรวจไม่ได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟังเป็นการจับกุมโดยชอบหรือไม่? และให้จำเลยลงชื่อโดยไม่แจ้งสิทธิแก่จำเลยทราบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? การจับกุมมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตามเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน หากจับกุมไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญา การสอบสวนที่มิได้ทำการสอบสวนต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2541

พนักงานอัยการ จังหวัด ราชบุรี โจทก์

แม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตามก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 จำเลยจะยกขึ้นฎีกาในปัญหาข้อนี้มิได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาตอนหนึ่งว่าการ สอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ทำต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนนั้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เนื่องจากจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งในศาลดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 วรรคหนึ่งนอกจากนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่ในเมื่อจำเลยต้องอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งศาลจะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายได้ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้เสียก่อนว่าเป็นประการใดเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ฎีกาของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพียงแต่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า คำขอที่ให้บวกโทษของจำเลยให้ยกเสีย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 2 เม็ด หนัก 0.14 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายและจำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่ออันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 59, 62, 89, 106 และบวกโทษจำคุกจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1258/2537 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้องจริง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุก 6 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลย 4 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1258/2537ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ รวมจำคุก 4 ปี 12 เดือนคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอของโจทก์ที่ให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1258/2537ของศาลชั้นต้นบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ฎีกาของจำเลยตอนแรกอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่านข้อความให้จำเลยฟัง และให้จำเลยลงชื่อโดยไม่แจ้งสิทธิแก่จำเลยทราบอันเป็นคนละตอนกับการสอบสวนซึ่งผู้จับกุมจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 77 ถึงมาตรา 86 เห็นว่า ถึงแม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 จำเลยจะยกขึ้นฎีกาในปัญหาข้อนี้มิได้ ส่วนฎีกาของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ทำการสอบสวนต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เนื่องจากจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งในศาลดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง อีกโสดหนึ่ง นอกจากนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่ในเมื่อจำเลยต้องอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งศาลจะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายได้ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้เสียก่อนว่าเป็นประการใด เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ฎีกาของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพียงแต่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า คำขอที่ให้บวกโทษของจำเลยให้ยกเสีย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะสั่ง รับฎีกาของจำเลยมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้"

พิพากษายกฎีกาจำเลย

( ระพิณ บุญสิทธิ์ - สุชาติ ถาวรวงษ์ - สมศักดิ์ วงศ์ยืน )

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US