ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (หญิงคู่หมั้น) คืนของหมั้นราคา 32,500 บาท ดังนั้นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนของหมั้นราคา 32,500 บาท และเงินสินสอดจำนวน130,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 รวมเป็นเงิน 162,500บาท อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องคืนของหมั้นและสินสอด ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา คือ 162,500 บาท ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2549


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกัน เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของขำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 73/2546 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนนี้ตามเดิมและเรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 73/2546 ว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกนายธนูชัย แฝงฤทธิ์ จำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 4 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว

โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2544 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ที่ 1 ไปสู่ขอจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 ได้ทำพิธีแต่งงานตามประเพณีกันโดยฝ่ายโจทก์มอบของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท และสินสอดเป็นเงินสด จำนวน 130,000 บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลยครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ยอมให้จดทะเบียนสมรสและยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 4 ถือว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหมั้น ขอให้จำเลยที่ 1 คืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 คืนเงินสดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้คืนเงินจำนวน 162,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก้โจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 100,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 4 จะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยทั้งสามมิได้ผิดสัญญาหมั้น เพราะโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 แต่งงานตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาประมาณ 1 ปีเศษ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่เคยนำพาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรส เมื่อจำเลยที่ 1 เรียนจบได้หางานทำกับโจทก์ที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร แต่มีเรื่องทะเลาะกัน โจทก์ที่ 1 จึงบอกเลิกกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นและสินสอดคืน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 และนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 แต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับครอบครัวของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจำนวน 100,000 บาท จากจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยฝนอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 32,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 130,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 3,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้น สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับที่เลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ปัญหาในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และสำหรับในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ 3 ดังกล่าวมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยในข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้บังคับเรื่องของหมั้นสำหรับจำเลยที่ 1 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกานอกจากที่คืนให้เป็นพับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 224 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท กันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้ง หรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่ อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ในขณะยื่น คำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกา
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามี เหตุอันควรอุทธรณ์ได้ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อม กับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าว เพื่อพิจารณารับรอง
มาตรา 248 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท กันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษา ที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้ง หรือผู้พิพากษา ที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดี ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควร ที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับ อนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่ อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออก จากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ในขณะยื่นคำฟ้อง ไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้าม ฎีกาข้อเท็จจริงตามวรรคสอง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ไม่ว่า ศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ หรือไม่ ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่จะได้มีความเห็นแย้งหรือ คำรับรอง หรือหนังสืออนุญาตให้ฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น หรือศาล อุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรมี่จะฎีกาได้ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึง ผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับ คำร้องเช่นว่านั้น ให้ส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้ พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง

มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US