เขตอำนาจศาลเรื่องคำร้องขัดทรัพย์

เขตอำนาจศาลเรื่องคำร้องขัดทรัพย์
(ในระหว่างบังคับคดี)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9362/2551

การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือ ศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้น

การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือ ศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาลจังหวัดพิษณุโลก การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกจึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี.

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 924,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2542 จนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 29,170 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ศาลแพ่งได้ออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 และได้ส่งหมายบังคับคดีให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน ต่อมาศาลชั้นต้นได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11199 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวข้างต้นเป็นของผู้ร้องทั้งสองขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษา ให้ยกคำร้องขอ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด ค่าคำร้องขอเป็นพับ

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) บัญญัติว่า “คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีมาตรา 302” และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น” ดังนั้น การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตามมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นจึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทไว้พิจารณาพิพากษาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

( กีรติ กาญจนรินทร์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - ศิริชัย วัฒนโยธิน )

ศาลจังหวัดพิษณุโลก - นายนรินทร์ สมัครเขตการ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US