การโอนที่ดินในระยะเวลาห้ามโอนเป็นโมฆะ

ที่ดิน นส. 3 ก. มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี การโอนที่ดินซึ่งมีกฎหมายกำหนดห้ามโอนภายในระยะเวลาที่ห้ามโอนหากมีการทำนิติกรรมฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงต์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2537

ที่ดินพิพาท เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและจะส่งมอบที่ดินภายในกำหนดห้ามโอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้จำเลยในราคา 63,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 43,000 บาทและโจทก์ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยไว้ เงินที่ค้างอีก 20,000 บาท จำเลยตกลงชำระภายในวันที่ 5 กันยายน 2531เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ชำระตามสัญญาโจทก์จึงริบเงินจำนวน 43,000บาท และมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก่อนครบกำหนดตามสัญญา และได้แจ้งให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องให้จำเลยภายใน7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่นำเงิน20,000 บาท ที่ค้างมาชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 5 กันยายน 2531ตามที่ตกลงกัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง

คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน2522 ตาม มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานของทั้งสองฝ่ายและวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นโมฆะพิพากษาให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี

หลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรม นางทาไชยสาร ซึ่งเป็นภริยาและทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 283 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายเนื้อที่ 1 งาน 98 ตารางวา ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ตาม มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา 63,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา43,000 บาท และโจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ให้จำเลยไปแล้ว ส่วนเงินที่ติดค้างอีก 20,000 บาท จำเลยตกลงจะชำระให้ภายในวันที่ 5 กันยายน 2531 และจะส่งมอบที่ดินให้ในวันที่ 5 กันยายน 2531 ตามสำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิวรรคห้า บัญญัติว่า "ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก" ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ดังนั้น ที่โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 และจะส่งมอบที่ดินให้จำเลยในวันที่ 5 กันยายน 2531 ภายในกำหนดห้ามโอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยต้องคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ ส่วนเงินที่โจทก์รับไว้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิริบ
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ
ประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 58 ทวิ เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
(1) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
(2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี
(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
(วรรคสอง)เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอบและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
(วรรคสาม)สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (2) และ (3) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6132/2537

ที่ดินพิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 31จำเลยจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) แม้พ้นกำหนดห้ามโอนสิบปีแล้วสัญญาซื้อขายดังกล่าวก็ไม่มีผลบังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 648 เล่ม 7 ก.หน้า 48 เลขที่ 94 ตำบลปากแพรก กิ่งอำเภอบางสะพานน้อย(อำเภอบางสะพานน้อย) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดีกว่าจำเลยห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวต่อไปและให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ตามฟ้องให้แก่โจทก์ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาหรือขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตามฟ้อง โดยให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียว

จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของจำเลยอีกต่อไป ให้โจทก์ไปยื่นคำขอถอนอายัดที่ดินพิพาทของจำเลยต่อนายอำเภอบางสะพานน้อยหากโจทก์ไม่ไปก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างเป็นมูลฟ้องคดีนี้เป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้ขับไล่โจทก์กับบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 648 ตำบลปากแพรกกิ่งอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห้ามโจทก์กับบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าวกับให้เพิกถอนการอายัดที่โจทก์ได้ขออายัดไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามฟ้อง คำให้การฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้งฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2530จำเลยทำสัญญาขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 648 เล่ม 7 ก. เลขที่ดิน 94 ตำบลปากแพรก กิ่งอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 27 ไร่ 91 ตารางวาให้โจทก์ในราคา 235,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายท้ายฟ้องหมาย 2 ที่ดินพิพาทนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2523 และได้ระบุไว้ว่าที่ดินแปลงนี้ตกอยู่ในบังคับห้ามโอน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก ปัญหาวินิจฉัยมีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2530 ว่า จำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ที่ดินพิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31แสดงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาจะปกป้องราษฎรให้มีที่ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการได้ควบคุมที่ดินนั้นอยู่ ยังไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่มีข้อบังคับห้ามโอน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่16 เมษายน 2533 ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาซื้อขายตามสำเนาท้ายฟ้องจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะแล้ว แม้พ้นกำหนดห้ามโอนสิบปีแล้วสัญญาซื้อขายดังกล่าวก็ไม่มีผลบังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1377 ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือ ทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง
ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือ ทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง
มาตรา 1378 การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สิน ที่ครอบครอง

ประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 31 โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ได้ออกสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองในหรือหลังวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ห้ามโอนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
(2) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เฉพาะที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคและอื่นๆ เนื่องจากการจัดที่ดิน ห้ามโอนภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
(วรรคสอง)ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์

ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2546

การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 ไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐให้แก่บุคคลอื่นได้ การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น การที่ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ หากผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อาจมีความผิดตามมาตรา 108 ทวิ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายหินกับโจทก์ในสภาพสังหาริมทรัพย์ แต่ให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น เป็นการทำสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดหินและย่อยหิน ในเมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงจะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งกรณีหาใช่การให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 12 ไม่

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินในสภาพสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่ดินตั้งอยู่เขามะขามเฒ่า หมู่ที่ 3ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับสัมปทานอนุญาตให้ทำการระเบิดและย่อยหินจากทางราชการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 โดยโจทก์ต้องเป็นผู้เข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเอง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินท้ายสัญญา โจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อหินบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุงรวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และ 24,000,000 บาท และได้มอบโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี เพื่อเป็นประกันค่าซื้อหินแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีถ้ำ พระพุทธรูป สำนักสงฆ์ และพระภิกษุประจำอยู่และได้รับการทักท้วงว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องทำการระเบิดหินเองโจทก์จึงไม่นำเงินเข้าบัญชีของผู้สั่งจ่ายเช็ค และได้สอบถามไปยังกรมที่ดินและจังหวัดสระบุรี ได้รับแจ้งว่าผู้ได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินต้องดำเนินการเองจะโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับและโฉนดที่ดินคืนให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง จำนวน 2 ฉบับคือเช็คเลขที่ 7992838 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และเช็คเลขที่ 6434267 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายหินระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์โดยโจทก์กับพระเทพกิตติปัญญาคุณหรือกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ร่วมกันซื้อในลักษณะสังหาริมทรัพย์จากจำเลยทั้งสอง แต่พระเทพกิตติปัญญาคุณเป็นพระภิกษุไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายได้ จึงมอบให้โจทก์ผู้เดียวทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง โจทก์ทราบเงื่อนไขของการที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินเป็นอย่างดีจึงได้ทำสัญญาซื้อขายหินกับจำเลยทั้งสอง ทั้งโจทก์ได้ตรวจสอบพื้นที่และทำหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ส่วนเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเองนั้นจะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้เป็นเพียงข้อกำหนดหนึ่งจากทั้งหมด 26 ข้อ มิได้หมายความว่าถ้าฝ่าฝืนแล้วจะถูกเพิกถอนการอนุญาต การห้ามโอนสิทธิให้ผู้อื่นกฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามเด็ดขาด การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อ มีหรือใช้วัตถุระเบิดไม่ทำให้สัญญาซื้อขายหินไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังต้องผูกพันตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับกับโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ ฉบับลงวันที่14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง ฉบับเลขที่ 7992838 ลงวันที่21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และฉบับเลขที่ 6434267 ลงวันที่14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูลอำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี ที่รับไว้คืนให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535โจทก์ทำสัญญาซื้อหินจากจำเลยทั้งสองในสภาพสังหาริมทรัพย์ในราคา 30,000,000บาท โดยมีข้อตกลงและรายละเอียดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐตามใบอนุญาตหมาย จ.2 และ จ.3

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายเพราะการได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 สามารถโอนกันได้ เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดินมีการขอใช้ที่ดินของรัฐสองกรณี คือกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 12การได้มาซึ่งสัมปทานตามมาตรา 12 สามารถโอนกันได้ การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามมาตรา 9 ก็ย่อมโอนกันได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 มาตรา 9 เองไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวนั้นโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐนั้นให้แก่บุคคลอื่นได้ เพราะหลักการในการอนุญาตตามคำขอใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวนี้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตโดยเฉพาะตัวเท่านั้นการที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 จำเลยทั้งสองผู้โอนอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินข้อ 3 ระบุว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ และหากโจทก์ผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 โจทก์อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 กับโจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น สัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหิน โดยโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงที่จะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน จึงเป็นวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะกรณีของจำเลยทั้งสองแตกต่างกับการให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 9 ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ ที่ดินของรัฐนั้นถ้ามิได้มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด
(1) เข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่า
(2) ทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทราย ในบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามในราชกิจจานุเบกษา หรือ
(3) ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน

มาตรา 12 ที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครอง รัฐมนตรีมีอำนาจให้สัมปทาน ให้ หรือให้ใช้ในระยะเวลาอันจำกัด ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนถึงกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้

มาตรา 108 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 อยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ถ้าผู้ฝ่าฝืนเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากที่ดินและหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการกำหนดระเบียบตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ที่ดินนั้นให้แก่รัฐหรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่นด้วยก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548

จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจ ที่แท้จริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ว่า พ. มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2

โจทก์ และ ส. บิดาจำเลยที่ 1 ต่างเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยที่ 2 ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้ ส. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออก น.ส. 3 ก. แล้วทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ได้รับ น.ส. 3 ก. สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินจัดสรรของนิคมสหกรณ์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2539

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์นิคม โดยมอบอำนาจให้นายไพศาลเป็นผู้ดำเนินคดีแทน การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงตกเป็นโมฆะ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งจัดสรรให้ผู้ไม่มีที่ทำกินและอยู่ในบังคับห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีอำนาจขอเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ นายสนับ และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ วันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 225,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า นายไพศาลมีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแพ่งแทนจำเลยที่ 2 นายไพศาลจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่าภายหลังจากนายสนับบิดาของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทได้สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 และต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี" การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US