ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ลูกจ้างได้โทรไปแอบอ้างกับลูกค้า(คู่ค้า)ของนายจ้างว่าทางบริษัทนายจ้างจะพาพนักงานไปเที่ยวนายจ้างให้ขอสุรา 4 ขวดซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ความจริงลูกจ้างไปเที่ยวกันเองส่วนตัว การที่คู่ค้าให้สุราแก่ลูกจ้างเป็นกานให้โดยไม่สมัครใจ การกระทำของลูกจ้างเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างเลิกจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คู่ค้าของนายจ้างได้รับโทรศัพท์จากลูกจ้าง(โจทก์)ขอสุราจากร้านโดยอ้างว่าบริษัทนายจ้างจะไปเที่ยว คู่ค้าของนายจ้างหลงเชื่อตามลูกจ้าง(โจทก์)อ้างจึงให้สุราแก่ลูกจ้างไปรวม 4 ขวด การเรียกรับสุรานั้นนายจ้างไม่ได้สั่งการ และลูกจ้างได้ใช้สุราทั้ง 4 ขวด ในการไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานประมาณ 30 คน โดยไปเที่ยวกันเอง การกระทำของลูกจ้างที่ได้สุรา 4 ขวด มาจากคู่ค้าของนายจ้าง เพราะลูกจ้างเรียกรับเอาเองในขณะที่ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทนายจ้างอันเป็นตำแหน่งที่อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้า คู่ค้าจึงอาจเกรงใจจำยอมหรือยอมให้โดยไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริง ทั้งการที่ลูกจ้างอ้างว่าบริษัทนายจ้างจะนำเที่ยวในวันดังกล่าว คู่ค้าหลงเชื่อจึงให้สุราไป ความจริงลูกจ้างกับเพื่อนร่วมงานนำสุราทั้ง 4 ขวดใช้ในการเที่ยวส่วนตัวการกระทำของลูกจ้างจึงเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) นายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ดังนั้นนายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5233/2549

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ที่ได้สุรา4 ขวด มาจากคู่ค้าของจำเลย เพราะโจทก์เรียกรับเอาเองในขณะที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของจำเลย อันเป็นตำแหน่งที่อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้า คู่ค้าจึงอาจเกรงใจ จำยอมหรือยอมให้โดยไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริง จึงเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 119 (1) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อเดือนตุลาคม 2544 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,600 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 25,740 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า15,730 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 8,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของแต่ละต้นเงินนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เรียกรับสุรารวม 4 ขวดจากคู่ค้าของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 25,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,600 บาท โจทก์ได้เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้าของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.34 เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2545 ซึ่งจำเลยอ้างเหตุในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและวินิจฉัยว่า การที่โจทก์รับสุราจากคู่ค้าของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 3.34 ซึ่งตำแหน่งของโจทก์อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้าที่จำหน่ายสินค้าให้จำเลย ถือเป็นเรื่องสำคัญ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรและถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่การกระทำดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ฉ้อโกงหรือประพฤติชั่วในกิจการงานของจำเลย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญา โดยเจตนาแก่จำเลยตามที่จำเลยอ้างในหนังสือเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 25,740 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย และคดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอจะวินิจฉัยคดี ศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันเพิ่มเติมตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง (ธัญบุรี) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ไว้เป็นใจความว่า คู่ค้าของจำเลยได้รับโทรศัพท์จากโจทก์ขอสุราจากร้านโดยอ้างว่าบริษัทจำเลยจะไปเที่ยวในวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม 2545 คู่ค้าของจำเลยหลงเชื่อตามโจทก์อ้างจึงให้สุราแก่โจทก์ไปรวม 4 ขวด การเรียกรับสุรานั้นจำเลยไม่ได้สั่งการ โจทก์ได้ใช้สุราทั้ง 4 ขวด ในการไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานประมาณ 30 คน โดยไปเที่ยวกันเอง โจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบมาก่อน ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของโจทก์ในการจัดซื้อ จัดหา ตลอดจนคัดเลือกกลุ่มสั่งซื้อของเข้าบริษัทจำเลย การที่โจทก์เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้า เป็นการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองโดยทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของจำเลย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.34 อันเป็นกรณีร้ายแรงแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรมคือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ที่ได้สุรา 4 ขวด มาจากคู่ค้าของจำเลย เพราะโจทก์เรียกรับเอาเองในขณะที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของจำเลย อันเป็นตำแหน่งที่อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้า คู่ค้าจึงอาจเกรงใจจำยอมหรือยอมให้โดยไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจะนำเที่ยวในวันดังกล่าว คู่ค้าหลงเชื่อจึงให้สุราไป ความจริงโจทก์กับเพื่อนร่วมงานนำสุราทั้ง 4 ขวดใช้ในการเที่ยวส่วนตัวการกระทำของโจทก์จึงเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น เมื่อได้ความว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีก"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US