หน้าที่ผู้จัดการมรดก | ไม่แบ่งมรดก | การสละมรดก

จัดการมรดกไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548 (ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่ อ่านต่อคลิ๊กที่นี่)

การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยกับนายลับเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย เมื่อปี 2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนายลับกับจำเลยให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมฮวย ต่อมานายลับได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีมรดกอีกคดีหนึ่ง แล้วบุคคลทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนายลับตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางกิมฮวยให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อปี 2543 จำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเป็นของจำเลย โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ศาลมีคำสั่งยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสามคนละ 50,000 บาท

จำเลยให้การว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินและเงินสดที่จำเลยได้รับจากนายลับตามสัญญา จึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย มิใช่ทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย ซึ่งจะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดิน 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลย คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถแบ่งได้ ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาด และนำเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินสดให้โจทก์ทั้งสาม คนละ 50,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์คนละ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน และให้จำเลยแบ่งเงินมรดกให้โจทก์ทั้งสามคนละ 25,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 4,687.50 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 4,687.50 บาท แก่จำเลย
โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายลับกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น เมื่อจำเลยและนายลับแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง และเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยได้รับไปได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่นายลับยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่านายลับสละมรดก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เจ้ามรดกยังมีนายลับเป็นคู่สมรส นายลับย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) อีกกึ่งหนึ่งคงตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง และเงินสดให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( เกษม วีรวงศ์ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - สุรพล เอกโยคยะ )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548 หน้าที่ผู้จัดการมรดกคือแบ่งมรดก เมื่อไม่แบ่งมรดกให้ทายาทก็เป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ทายาทฟ้องขอให้แบ่งมรดกได้ ทายาทให้เงินผู้จัดการมรดกเพื่อให้พ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นไม่ถือว่าผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมสละมรดกการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US