เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม

การที่จำเลยนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปชำระค่าสินค้า 3 ครั้งการชำระแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จแยกจากกันคนละคราวต่างกรรมต่างวาระและสินค้าที่ซื้อเป็นสินค้าคนละประเภทกัน การกระทำความผิด 3 ครั้งย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยเข้าใจไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552


การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ เป็นความผิด 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เอกสาร” ไว้ว่า หมายความว่ากระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดจึงเป็นเอกสารตามบทนิยามดังกล่าว และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสาร ตามมาตรา 188 กฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่นเป็นสำคัญโดยเป็นการเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจต้องขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานหรือใช้ประโยชน์จากเอกสารดังกล่าว และมิได้บัญญัติโดยมุ่งหมายเฉพาะการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวด 1 ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ที่มุ่งคุ้มครองถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของเอกสาร ดังนั้น การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเอาสารสิทธิ ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผา ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวบุปผา บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผา แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ คือ ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.4 การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จากนั้นจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง ย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ เป็นความผิด 3 กรรม หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของนางสาวบุปผาไปใช้ซื้อสินค้าจำนวน 2 รายการ ที่ร้านบิ๊กคาเมร่าในเวลาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อ 2.3 และ 2.4 โดยในข้อ 2.3 มีใจความว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้ากล้องวิดีโอแทนการชำระด้วยเงินสดที่ร้านบิ๊กคาเมร่า ส่วนในข้อ 2.4 มีใจความว่าภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 2.3 จำเลยนำบัตรเครดิตีวิซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้ากล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดที่ร้านบิ๊กคาเมร่า และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามฟ้องโจทก์ เมื่อจำเลยฎีกาโต้แย้งทำนองว่า จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ซื้อสินค้าทั้งสองรายการที่ร้านบิ๊กคาเมร่าในเวลาเดียวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลัง ซึ่งขัดแย้งกับฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

อนึ่ง ภายหลังกระทำความผิดจำเลยได้นำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นางสาวบุปผาไปส่งมอบให้แก่พนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว เพื่อประกาศตามหาเจ้าของ และผู้เสียหายได้รับสินค้าของกลางคืนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยมานั้นหนักเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดทั้งสองฐานเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นจำคุก 6 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบ จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
( บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย - ธานิศ เกศวพิทักษ์ - สิงห์พล ละอองมณี )
ศาลอาญา - นางสาวอรกมล เจนนิรมาณ
ศาลอุทธรณ์ - นายศิริชัย ศิริกุล
ป.อ. มาตรา 1, 91, 188, 269/5, 269/7

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US