อำนาจฟ้องที่รัฐเป็นผู้เสียหาย

อำนาจฟ้องที่รัฐเป็นผู้เสียหาย
การที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีกับผู้ใดหรือไม่? เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดีนั้น จะถือว่าโจทก์ถูกดำเนินคดีเพราะการปล่อยตัวผู้ต้องหาไปยังไม่ได้ หากการปล่อยตัวผู้ต้องหาของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้ที่ได้รับความเสียหายก็คือรัฐมิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2537

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องหา ได้ปล่อยตัว ด. กับอ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แล้วจำเลยที่ 1 แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ร่วมกับผู้ต้องหาทั้งสองดังกล่าวลักทรัพย์ทำให้โจทก์ต้องถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของโจทก์เอง ไม่เกี่ยวกับการปล่อยตัวบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยตัว ด.และ อ. ไปและโจทก์ถูกดำเนินคดีจะถือว่าโจทก์ถูกดำเนินคดีเพราะการปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไปยังไม่ได้ อีกทั้งหากการปล่อยตัว ด.และ อ. ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการผู้ที่ได้รับความเสียหาย คือ รัฐไม่ใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งเป็นกำนันมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2533 เวลากลางคืน จำเลยทั้งสามร่วมกันปล่อยตัวนายดอเลาะ มูซอ กับนายมะแอไม่ทราบนามสกุล ผู้ต้องหาซึ่งกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์แล้วแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ได้ร่วมกับผู้ต้องหาทั้งสองลักทรัพย์ ทำให้โจทก์ต้องถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 687/2533 ของศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ต่อมาระหว่างวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2533 เวลากลางคืนและกลางวันติดต่อกันถึงวันที่ 17กันยายน 2533 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามซึ่งรู้อยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามได้แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ อ่อนปุย พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นความเท็จเพื่อต้องการแกล้งให้โจทก์ต้องได้รับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น เป็นการร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ซึ่งอาจทำให้โจทก์หรือประชาชนเสียหาย และเมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2533 เวลากลางวัน กับวันที่ 31 มกราคม 2534เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้เบิกความในคดีอาญาหมายเลขดำที่687/2533 ของศาลชั้นต้นว่า โจทก์เป็นคนร้ายและกระทำความผิดร่วมกับคนร้ายที่หลบหนีไปอีก 2 คน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยที่ 1ได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนให้หลบหนีไปตั้งแต่วันเกิดเหตุ แต่ต้องการปกปิดความผิดของตนเองจึงแกล้งควบคุมตัวโจทก์มาดำเนินคดีแทน ซึ่งความเท็จที่จำเลยทั้งสามเบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีเป็นการร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 157, 172, 174, 177 และ 184

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยตัวนายดอเลาะและนายมะแอไปโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และคุมตัวโจทก์ไว้ย่อมทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดี หากจำเลยที่ 1 ไม่ปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไปพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมจะไม่ดำเนินคดีแก่โจทก์เนื่องจากบุคคลทั้งสองจะต้องรับสารภาพและทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทราบว่า โจทก์มิใช่ผู้กระทำความผิด จึงถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1และเป็นผู้เสียหายในคดีนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของโจทก์เองไม่เกี่ยวกับการปล่อยตัวบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ที่โจทก์อ้างว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปล่อยตัวนายดอเลาะและนายมะแอไป บุคคลทั้งสองย่อมรับสารภาพอันจะทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทราบว่าโจทก์มิใช่ผู้กระทำความผิดและไม่ดำเนินคดีแก่โจทก์นั้นเป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เอง การที่จำเลยที่ 1ปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไปและโจทก์ถูกดำเนินคดีจะถือว่าโจทก์ถูกดำเนินคดีเพราะการปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไปยังไม่ได้ หากการปล่อยตัวบุคคลทั้งสองของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้ที่ได้รับความเสียหายก็คือรัฐมิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

( สมชาย รังสิกรรพุม - สังเวียน รัตนมุง - ชลอ บุณยเนตร )

หมายเหตุ

1. การฟ้องคดีอาญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่นจำเลยเป็นอย่างมาก กฎหมายจึงจำเป็นต้องคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้กระบวนยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสมเหตุผล หลักดังกล่าวทำให้ผู้ที่จะฟ้องคดีอาญาเฉพาะกรณีของราษฎรฟ้องร้องกันเองต้องเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายด้วย

2. ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ โจทก์เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดนั้นหรือไม่ หลักของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาในประเด็นนี้อาจแยกพิจารณาตามลักษณะ ของความผิดอาญา กล่าวคือ

หากเป็นความผิดต่อเอกชน ผู้ที่ถูกกระทำย่อมเป็นผู้เสียหาย

หากเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานของรัฐ หรือกิจการของรัฐ โดยทั่วไปถือว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายแต่ถ้าพาดพิงเกี่ยวข้องไปถึงบุคคลใดให้ได้รับความเสียหายโดยตรงแล้วผู้นั้นอาจเป็นผู้เสียหายได้

นอกจากนี้ยังมีความผิดต่อรัฐ ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหาย เช่น ความผิดต่อ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นต้น

3. คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ตัวอย่างเช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2526 การที่จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีแก่ ซ. ในข้อหาแจ้งความเท็จแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานผู้สอบสวน ช. ที่ขอรับเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัย การกระทำของจำเลยตามฟ้องแม้จะเป็นความจริงก็เป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์โดยตรงแต่ประการใดโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเจ้าพนักงานขัดขวางมิให้การเป็นไปตาม มาตรา 165และฐานช่วยผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 189 ได้

อนึ่ง แม้เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่หลักกฎหมายในเรื่องนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถที่จะกล่าวโทษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้เพื่อให้รัฐดำเนินคดี

4. คดีนี้ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียง คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2523 จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกที่สาธารณะ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะผลของการไม่จับกุมมิได้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เลยการที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์เป็นผู้กระทำผิดฐานบุกรุกที่สาธารณะเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการกระทำดังกล่าวมา แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยในข้อหานี้ก็หาทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ไปด้วยไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2517 บุตรโจทก์ถูก ส. ขับรถยนต์ชนชนถึงแก่ความตาย โจทก์จัดการแทนบุตร จำเลยเป็นนายตำรวจผู้สืบสวนสอบสวนคดีนั้น ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คือ จดคำพยานไม่ตรงกับคำให้การของพยานโดยไม่ชอบเพื่อช่วยเหลือ ส. มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ถือว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อโจทก์ โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรง มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200(ฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานพนักงานสอบสวนกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ)

ผู้บันทึกมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับนี้คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2523 การที่จำเลยละเว้นไม่จับกุมผู้กระทำผิดนั้น โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง เพราะหากมีผู้กระทำผิดจริง การกระทำความผิดและผู้กระทำความผิดมิได้เปลี่ยนแปลงไป การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการละเว้นไม่จับกุมทันทีเท่านั้นซึ่งอาจเกิดจากจำเลยยังไม่แน่ใจหรือมีเหตุผลอื่นที่เหมาะสมก็ได้อย่างไรก็ตามหากมีการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่จริง รัฐย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงส่วนในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2517 นั้นโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงเพราะว่าการที่จำเลยจดคำให้การพยานให้ผิดไปจากความจริงโดยไม่ชอบ ย่อมเป็นผลให้พยานหลักฐานของการกระทำผิดเปลี่ยนแปลงไปและผลของคดีอาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ที่ถูกจำเลยขับรถยนต์ชนถึงแก่ความตายย่อมได้รับความเสียหายโดยตรงจากการแก้ไขบิดเบือนพยานหลักฐานของโจทก์

จุมพลภิญโญสินวัฒน์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US