ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาได้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยมีอาวุธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกา ศาลฎีกายกฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาแต่ต้นได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เกี่ยวพันเป็นอันเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความผิด ดังนั้นปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยมีอาวุธได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6815/2552


พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์

ตามคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ไม่ปรากฏว่าทั้งก่อนหรือขณะที่ ส. ชักอาวุธปืนพกออกมาจี้ที่หน้าอกของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ห่าง 3 ถึง 4 เมตร ได้กระทำการอย่างใดที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในการที่ ส. ชักอาวุธปืนพกออกมาจี้ผู้เสียหาย กรณีจึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส. กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ฎีกา แต่ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 เกี่ยวพันเป็นอันเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งปัญหาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยมีอาวุธได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 215 และ 225

สำหรับคำขอคืนของกลางอื่นที่เหลือแก่เจ้าของ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดเครื่องยนต์ดีเซล 1 เครื่อง หลังคารถขนาดเล็กพับได้ 1 หลัง ท่อไอเสียเฮดเดอร์รถยนต์ 1 ชุด กันชนหน้าและกันชนหลังรถยนต์ 1 ชุด อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเป็นของกลางและขอให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ คำขอดังกล่าวเป็นคำขอให้ศาลมีคำสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของเมื่อศาลพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 มิใช่คำขอส่วนแพ่งที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 43 และยกคำขอดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้คืนของกลางอื่นแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49
________________________________

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4081/2546 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 58, 83, 340, 340 ตรี, 371, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบรถยนต์กระบะของกลาง คืนของกลางอื่นที่เหลือแก่เจ้าของ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 4,700 บาท แก่ผู้เสียหาย นำโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2864/2540 มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้และนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 535/2542 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยมีอาวุธ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมคงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกดังกล่าวกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของผู้เสียหายและนางกำไลประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าทั้งก่อนหรือขณะที่นายสันติชักอาวุธปืนพกออกมาจี้จ่อที่หน้าอกของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองซึ่งอยู่บริเวณรถจอดห่างจากนายสันติ 3 ถึง 4 เมตรนั้น ได้กระทำการอย่างใดที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในการที่นายสันติชักอาวุธปืนพกออกมาจี้ผู้เสียหาย คงได้ความเพียงว่าหลังจากนายสันติสอบถามผู้เสียหายถึงพี่ชายของผู้เสียหายหายแล้ว นายสันติเดินไปที่เพิงเก็บเครื่องยนต์ดีเซลห่างจากจุดที่นายสันติใช้อาวุธปืนพกจี้ผู้เสียหายประมาณ 3 วา จำเลยที่ 1 ก็เดินตามไปที่เพิงดังกล่าวเท่านั้น ที่สำคัญ ผู้เสียหายก็ดี นางกำไลก็ดี ต่างก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองยอมรับว่า ขณะเกิดเหตุดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าทำร้ายหรือพูดจาข่มขู่ผู้เสียหายและนางกำไลอย่างใด โดยเฉพาะนางกำไลยังยืนยันด้วยว่าตอนที่นายสันติถืออาวุธปืนจี้ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองยังอยู่บนรถ ซึ่งอากัปกริยาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นพฤติการณ์ที่เจือสมด้วยข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยทั้งสองที่ว่า วันเกิดเหตุนายสันติว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะของกลางที่จำเลยที่ 1 มีไว้รับจ้าง มาขนทรัพย์ที่บ้านลูกหนี้ จำเลยที่ 1 จึงชวนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายนั่งรถมาด้วย กรณีจึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายสันติกระทำความผิดหรือไม่ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มา ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางมาด้วยกับนายสันติแสดงว่าสนิทสนมกัน และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้แสดงท่าทางอะไร แต่ก็อยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะยืนคุมเชิงพร้อมที่จะช่วยเหลือทันที กับทั้งการที่นิ่งเฉยแต่ยังช่วยขนสิ่งของด้วยแสดงว่ามีความคิดร่วมกันมาก่อนที่จะขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายเพื่อนำทรัพย์ไปนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีอาชีพขับรถตามที่มีผู้ว่าจ้างทั่วไป การที่จำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางมาด้วยกับนายสันติโดยเป็นผู้ขับรถมาดังคำเบิกความของผู้เสียหายจึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 กับนายสันติต้องสนิทสนมกัน ทั้งขณะเกิดเหตุมีนางกำไลอยู่ด้วยกับผู้เสียหาย หากจำเลยทั้งสองมีความคิดร่วมกันกับนายสันติมาก่อน จำเลยทั้งสองก็น่าจะแสดงท่าทางเข้าระวังบังคับนางกำไลไว้ด้วย เชื่อว่าที่นายสันติเดินเข้าไปหาผู้เสียหายและชักอาวุธปืนที่ติดตัวมาออกมาจี้จ่อผู้เสียหายเป็นกริยาอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีโดยจำเลยทั้งสองมิได้คาดคิด มิใช่จำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่านายสันติมีอาวุธปืนมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่า ขณะจำเลยทั้งสองกับนายสันติยกเครื่องยนต์ขึ้นรถผู้เสียหายยืนดูอยู่ที่บันไดบ้าน ทำนองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนขืนน้ำใจผู้เสียหายในพฤติการณ์ซึ่งจำเลยทั้งสองน่าจะทราบและเข้าใจได้โดยธรรมดา แต่ตรงกันข้ามกลับได้ความจากนางกำไลตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่านางกำไลเห็นผู้เสียหายช่วยจำเลยทั้งสองยกเครื่องยนต์ขึ้นรถด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ฎีกา แต่ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 เกี่ยวพันเป็นอันเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังที่วินิจฉัยมากับทั้งปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยมีอาวุธได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 สำหรับคำขอคืนของกลางอื่นที่เหลือแก่เจ้าของนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดเครื่องยนต์ดีเซล 1 เครื่อง หลังคารถขนาดเล็กพับได้ 1 หลัง ท่อไอเสียเฮดเดอร์รถยนต์ 1 ชุด กันชนหน้าและชนหลังรถยนต์ 1 ชุด อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเป็นของกลาง และขอให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของซึ่งคำขอดังกล่าวเป็นคำขอให้ศาลมีคำสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของ เมื่อศาลพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 มิใช่คำขอส่วนแพ่งที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และยกคำขอดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้คืนของกลางอื่นที่เหลือแก่เจ้าของตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย และให้คืนของกลางอื่นที่เหลือแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.

( พินิจ สายสอาด - อร่าม เสนามนตรี - อร่าม แย้มสอาด )
ศาลจังหวัดกาญจนบุรี - นายกิตติพงษ์ กลิ่นขจร
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายทรงศิลป์ ธรรมรัตน์

มาตรา 49 แม้จะไม่มีฟ้องคดีส่วนแพ่งก็ตาม เมื่อพิพากษาคดี ส่วนอาญาศาลจะสั่งให้คืน ทรัพย์สินของกลางแก่

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US