นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย

สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรม เมื่อผู้ให้กู้กำหนดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิผู้ให้กู้เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้เงโดยกฎหมายอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยเช่นนี้จึงตกเป็นโมฆะ

ในวันที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ร้อยละ 12.25 สำหนับลูกค้ารายย่อยชั้นดีร้อยละ 12.75 แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินระบุข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เเงินกลับระบุข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนี้ตั้งแต่มีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไป อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด ข้อสัญญาในเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้ จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยเช่นนี้จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้โดยมิชอบในสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้น กลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ไม่จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนผิดนัด ส่วนอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับว่าเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินไป ศาลมีอำนาจลดลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2547

การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดทางอาญาตาม มาตรา 44 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 กำหนดไว้ในข้อ 3 (1) และ (2) ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ทำกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ข้อ 2 ตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไปอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ทั้งที่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้โดยชอบ โดยจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ 3 (4) ดังกล่าว ข้อสัญญาข้อนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 44 จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้

ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ที่ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งหมายถึงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยนับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ สัญญาข้อ 4 นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เป็นสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยสูงเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระรวมกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 540,335.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 380,996.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 380,996.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19697 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า จำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ (ขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) และยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์กำหนดชำระหนี้คืนภายใน 60 เดือน นับแต่วันทำสัญญาโดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด รายละเอียดปรากฏตามสัญญากู้เงินโดยอัตราดอกเบี้ยที่ระบุเป็นตัวเลขร้อยละ 19 ต่อปีดังกล่าวเป็นอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ในขณะที่ทำสัญญากู้เงินนี้ และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โดยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 จำนวน 80,000 บาท แล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นไป

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 โดยตามประกาศดังกล่าวข้อ 3 (1) และ (2) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในประกาศดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข

ข้อเท็จจริงได้ความตามคำสั่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อของธนาคารโจทก์ว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ซึ่งจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีร้อยละ 12.25 และสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีร้อยละ 12.75 แต่ตามสัญญากู้เงินข้อ 2 และข้อ 3 ระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ทั้งที่ตามสัญญาข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยนี้ โดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นเดือนนับแต่เดือนมกราคม 2538 ซึ่งเป็นการชำระงวดแรกถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป ข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไป อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด และในกรณีนี้โจทก์ยังไม่มีสิทธิทำสัญญาเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขโดยจะเรียกดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยข้อ 1 (4) ดังกล่าว ข้อสัญญาในเรื่องดอกเบี้ยนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยส่วนลดดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 44 ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยนี้ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และแม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองต่ำกว่าอัตราตามที่ระบุไว้โดยมิชอบตามสัญญานั้นก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้

ส่วนการคิดดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น ตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ระบุในสัญญาข้อ 2 ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัตผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ และในกรณีที่มีการผิดนัดแล้วเช่นนี้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วในอัตราผิดนัดสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยข้อ 3 (4) ดังกล่าวแล้วแต่อย่างใด สัญญาข้อ 4 นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ และสัญญาข้อนี้ยังเป็นการกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงอันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการผิดสัญญา เท่ากับเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายในลักษณะเป็นดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

อนึ่ง เมื่อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนกรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ชำระถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนสิงหาคม 2540 ต่อเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนสิงหาคม 2540 ไปแล้ว คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วนับตั้งแต่วันกู้ยืม (วันที่ 22 ธันวาคม 2537) จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 400,000 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ มาตรา 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2548

โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีให้เจาะและใช้น้ำบาดาลทำสัญญากับจำเลยว่า โจทก์จะใช้น้ำบาดาลที่ได้รับอนุญาตให้เจาะและใช้แล้วนำมาผลิตน้ำประปาจำหน่ายให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าน้ำให้โจทก์ตามอัตราเดียวกันกับค่าน้ำของการประปาภูมิภาค อันมีลักษณะเช่นเดียวกันกับกิจการประปา ถือได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการค้าขายเกี่ยวกับการประปาอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งโจทก์จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานให้ดำเนินการน้ำอุปโภคบริโภคที่โจทก์ให้บริการจำหน่ายแก่จำเลยจึงเป็นกิจการประปาอันเป็นสาธารณูปโภคที่ต้องห้ามชัดแจ้งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 16 เรื่องควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีโทษทางอาญา ข้อตกลงเรื่องการซื้อขายน้ำอุปโภคและบริโภคดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าน้ำ

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินและบ้านโครงการหมู่บ้านธารารินทร์ จำเลยเป็นผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการดังกล่าวและตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาให้บริการน้ำและสาธารณูปโภคอื่น จำเลยค้างชำระค่าน้ำและค่าบริการสาธารณูปโภค ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าน้ำ 17,568 บาท และค่าบริการสาธารณูปโภค 1,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100 บาท นับแต่วันที่ 10 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ถึงเดือนมีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์อีก 17,568 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า น้ำอุปโภคบริโภคที่โจทก์ให้บริการเป็นกิจการประปาหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลล่างฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคและจำเลยยอมชำระค่าน้ำอุปโภคบริโภค (น้ำบาดาล) ให้แก่โจทก์ตามจำนวนน้ำที่ใช้ในอัตราเดียวกับค่าน้ำของการประปาภูมิภาคตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกต่อท้ายเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้รับอนุญาตให้เจาะและใช้น้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรธรณี ตามใบอนุญาตเอกสารหมาย จ.10 โดยปรากฏข้อความตามบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 2 เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 5 ว่า ผู้ซื้อตกลงชำระค่าน้ำอุปโภคบริโภค (น้ำบาดาล) ให้แก่ผู้ขายตามจำนวนน้ำที่ใช้ การคำนวณค่าน้ำให้ใช้วิธีการคูณตามจำนวนหน่วยที่ใช้จากมาตรวัดน้ำในอัตราเดียวกันกับค่าน้ำของการประปาภูมิภาค ส่อแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาตามบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 2 ว่าเป็นข้อตกลงเรื่องการซื้อขายน้ำอุปโภคบริโภคโดยโจทก์จะใช้น้ำบาดาลที่ได้รับอนุญาตให้เจาะและใช้แล้วนำมาผลิตน้ำประปาจำหน่ายแก่จำเลย ส่วนจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าน้ำให้โจทก์ตามอัตราเดียวกันกับค่าน้ำประปาของการประปาภูมิภาคอันมีลักษณะเช่นเดียวกันกับกิจการประปาถือได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการค้าขายเกี่ยวกับการประปาอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งโจทก์จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานให้ดำเนินการน้ำอุปโภคบริโภคที่โจทก์ให้บริการจำหน่ายแก่จำเลยจึงเป็นกิจการประปาอันเป็นสาธารณูปโภคที่ต้องห้ามชัดแจ้งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 16 เรื่องควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีโทษทางอาญา ข้อตกลงเรื่องการซื้อขายน้ำอุปโภคและบริโภคดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าน้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US