ฟ้องซ้ำ | คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

คดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ในคดีก่อนโจทก์ถูกฟ้องให้รับผิดและโจทก์ต่อสู้เรื่องฐานะผู้รับโอน และศาลได้วินิจฉัยชีขาดแล้ว ในคดีนี้โจทก์จะมาฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ศาลวินิจฉัยประเด็นเดียวกันนี้ไปแล้วจึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 206/2552

ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 2 เคยฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยให้รับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ประมูลซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองรับผิดต่อจำเลยที่ 2 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเพราะมิได้มอบให้ อ. ทำการซื้อขายแทน แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวต่อมาโจทก์ทั้งสองได้แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมด และยอมรับว่าเป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอยู่จริง ดังนี้ ข้อต่อสู้ดังกล่าวรวมถึงข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ที่ว่าการซื้อขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมายและ ม. ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในคดีก่อนที่จะนำมาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 และเมื่อโจทก์ทั้งสองต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2542 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 22946 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองคัดสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 11107/2543 ของศาลแพ่ง ที่โจทก์อ้างในฟ้องเสนอต่อศาลภายใน 15 วัน ต่อมาโจทก์ทั้งสองอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาดังกล่าว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ประมูลซื้อสินทรัพย์มาโดยชอบ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวเป็นคดีนี้ ทั้ง ๆ ที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่งและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีหมายเลขดำที่ 11107/2543 ต่อศาลแพ่ง ให้โจทก์ทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ประมูลซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองรับผิดต่อจำเลยที่ 2 และคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่ง
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 จำเลยที่ 2 คดีนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะโจทก์คดีดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการจัดตั้งเป็นกองทุนรวม ได้มอบให้นายเอลดริจ เอฟ เกรย์ ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่นายเอลดริจ เอฟ เกรย์ ซื้อมารวมถึงมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 2 นำมาฟ้องโจทก์ทั้งสองให้ต้องรับผิด และต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมจึงได้ให้สัตยาบันการกระทำของนายเอลดริจ เอฟ เกรย์ จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเพราะมิได้มอบให้นายเอลดริจ เอฟ เกรย์ ทำการซื้อขายแทน แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวต่อมาโจทก์ทั้งสองได้แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมด และยอมรับว่าเป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอยู่จริง ดังนี้ ข้อต่อสู้ดังกล่าวรวมถึงข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ที่ว่าการซื้อขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมาย และนายมนตรีไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในคดีก่อนที่จะนำมาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเมื่อโจทก์ทั้งสองต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สนอง เล่าศรีวรกต - บุญรอด ตันประเสริฐ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายอรุณรัตน์ ศรีพิเชียร
ศาลอุทธรณ์ - นายอธิป จิตต์สำเริง
ป.วิ.พ. มาตรา 148, 249
มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิ โจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย การวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US