ข้อตกลงให้อาศัยเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันทายาทได้

ข้อตกลงให้อาศัยเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันทายาทได้
แม้การอยู่อาศัยที่ได้ให้ไว้แก่กันจะเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามได้ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้วสิทธิอาศัยที่ได้ทำไว้เดิมกับผู้ให้อาศัยย่อมสิ้นลงจึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยอีกต่อไปและเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต

เจ้าของเดิมอนุญาตให้จำเลยพักอาศัยในบ้านหลังหนึ่งต่อมาเจ้าของเดิมเสียชีวิต จำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนหลังเดิม เมื่อโรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้วโดยจำเลยแล้วสิทธิอาศัยที่จำเลยได้ทำไว้กับเจ้าของเดิมย่อมสิ้นลงและไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยอีกต่อไป การที่จำเลยปลูกบ้านใหม่ขึ้นแทนภายหลังจากที่เจ้าของเดิมถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดไม่ บ้านหลังใหม่ จึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นของเจ้าของที่ดินและเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้าของเดิมชอบที่จะจัดการมรดกโดยทั่วไป จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551

แม้การอยู่อาศัยที่ ป. ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 จะเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ให้ปฏิบัติตามได้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1402 บัญญัติว่า “บุคคลใดรับสิทธิอาศัยในโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า” และมาตรา 1408 บัญญัติว่า “เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลงผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บ้านเลขที่ 30 (เดิม) ซึ่งเป็นโรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้วโดยจำเลยทั้งสองเช่นนี้ สิทธิอาศัยที่ ฮ. และจำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับ ป. ย่อมสิ้นลงจึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตามบทกฎหมายข้างต้น การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดไม่ และการที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอม บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดิน่ของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) เช่นนี้พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ซึ่งเป็นโรงเรือนคงอยู่ตามมาตรา 1311
________________________________

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2973 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 30

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2973 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากบ้านเลขที่ 30 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2973 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่นายไฮ้และจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 30 เป็นการอยู่อาศัยโดยนายประมุข อนุญาต แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานก็เป็นบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับได้ โจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้จัดการมรดกของนายประมุขเท่านั้น จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า แม้การอยู่อาศัยที่นายประมุขได้ให้ไว้แก่นายไฮ้และจำเลยที่ 1 จะเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกนายประมุขให้ปฏิบัติตามได้ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า” และมาตรา 1408 บัญญัติว่า “เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลงผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บ้านเลขที่ 30 (เดิม) ซึ่งเป็นโรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้วโดยจำเลยทั้งสองเช่นนี้ สิทธิอาศัยที่นายไฮ้และจำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับนายประมุขย่อมสิ้นลงจึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตามบทกฎหมายข้างต้น การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ขึ้นแทนภายหลังจากที่นายประมุขถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดไม่ และการที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอม บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) เช่นนี้พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประมุขประสงค์จะให้บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ซึ่งเป็นโรงเรือนคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ดังวินิจฉัยมาแล้วเช่นนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประมุขชอบที่จะจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวแต่อย่างใด สำหรับคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( กีรติ กาญจนรินทร์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - ศิริชัย วัฒนโยธิน )

ป.พ.พ. มาตรา 144, 1299, 1311, 1402, 1405

มาตรา 144 ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่าส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือ สภาพไป
--เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
--ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน นั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา 1311 บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของ จะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาโรงเรือน หรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้น แล้วแต่จะเลือก

มาตรา 1402 บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า

มาตรา 1405 สิทธิอาศัยนั้นถ้ามิได้จำกัดไว้ชัดแจ้งว่าให้เพื่อประโยชน์ แก่ผู้อาศัยเฉพาะตัวไซร้ บุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของผู้อาศัยจะอยู่ ด้วยก็ได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US