ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาฝ่ายเดียวต้องดำเนินการภายใน 7 วัน

ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาฝ่ายเดียวต้องดำเนินการภายใน 7 วัน
ศาลออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยไม่มาศาลตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุที่ไม่มา ศาลจึงได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด เมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีต้องยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3022/2552

การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่วๆ ไป โดยมี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ เท่านั้น

คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดเวลานัดพิจารณาและสืบพยาน โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้วจึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดเมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีจึงต้องยกคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการถูกต้องแล้ว
________________________________

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เวลา 9 นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าวส่งให้จำเลยพร้อมสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 38/12 หมู่ 12 ถนนบางนา - ตราด ซอยพารุ่งเรืองตรงข้ามข้ามสะพานยูเทิร์นไบเทค แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ตามที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของลำเลย ครั้นถึงวันเวลานัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดแล้วพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง วันที่ 22 ตุลาคม 2550 จำเลยยื่นคำร้องว่า การดำเนินคดีของโจทก์ตั้งแต่ฟ้องจนถึงการบังคับคดีจำเลยไม่ทราบ เพราะไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จำเลยไม่คิดว่าโจทก์จะฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 27 มกราคม 2550 เป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินใดๆ แก่โจทก์ ในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ส่งได้โดยวิธีปิดหมายไว้ ณ อาคารสำนักงานของจำเลย ซึ่งคณะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้อยู่ที่สำนักงานของจำเลย จำเลยจึงไม่ทราบและไม่ได้ไปศาลตามกำหนดนัดในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 กรณีดังกล่าวมิใช่ความผิดของจำเลยแต่เป็นพฤติการณ์นอกเหนือซึ่งจำเลยไม่อาจหยั่งรู้และไม่อาจบังคับได้ จำเลยจึงไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใด จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 เนื่องจากพนักงานบริษัทอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนำหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องและคำบังคับมาให้จำเลย จึงต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้เพิ่งสิ้นสุดลง และจำเลยเพิ่งทราบถึงคดีที่จำเลยขาดนัดในวันดังกล่าวซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ภายใน 7 วัน ในวันที่ 25 ตุลาคม 2550 คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 ขอให้ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี

ศาลแรงงานกลางนัดไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 เวลา 13 นาฬิกา เมื่อถึงกำหนดนัดศาลแรงงานกลางได้สอบถามจำเลย จำเลยยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38/12 หมู่ที่ 12 ถนนบางนา - ตราด ซอยรถรุ่งเรือง (ที่ถูกคือซอยพารุ่งเรือง) ใกล้เคียงตรงข้ามสะพานยูเทิร์นไบเทค แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เป็นภูมิลำเนาของจำเลย ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดการไต่สวน

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานเดินหมายของศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยตามคำสั่งศาลโดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 ประกอบมาตรา 79 จำเลยไม่มาศาลตามนัดโดยไม่แจ้งให้ทราบเหตุที่ไม่มา และจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เกินกำหนด 7 วัน นับแต่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “...การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่วๆ ไป โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น

คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยาน โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด เมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีต้องยกคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

( ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - มานัส เหลืองประเสริฐ )
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31, 37, 40, 41

มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

มาตรา 37 เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกำหนดวันเวลาในการพิจารณาคดีโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนด ในหมายนั้นให้จดแจ้งรายการแห่งข้อหาและ คำขอบังคับให้จำเลยทราบ และให้ศาลแรงงานสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลาเดียวกันนั้นด้วย จำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงาน นัดให้มาศาลก็ได้

มาตรา 40 เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว ไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจาก สารบบความ
--เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว ไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด และพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
---ในกรณีที่โจทก์หรือจำเลยได้แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุแล้ว และศาลแรงงานเห็นเป็นการสมควร ก็ให้กำหนดวันเวลานัดใหม่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาศาล

มาตรา 41 ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากโจทก์หรือจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงาน ทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็นการสมควร ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 และดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US