สัญญาจ้างทดลองงาน | สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

กฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าการเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงานโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นายจ้างจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5131/2550

           ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานตามสัญญาจ้างทดลองงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

           ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงานจึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจนถึงวันเลิกจ้างเป็นระยะเวลาทำงานเพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย
________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 7,000 บาท และค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน เป็นเงิน 7,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 14,000 บาท ให้แก่โจทก์
          จำเลยทั้งสองให้การด้วยวาจาขอให้ยกฟ้อง
          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,000 บาท และค่าชดเชย 7,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 14,000 บาท ให้แก่โจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาทดลองงานแล้วจำเลยที่ 1 เห็นว่าการทำงานของโจทก์มีข้อผิดพลาดผลการประเมินโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงการทำงานแล้วจะประเมินผลการทดลองงานอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 1 มีหนังสือยกเลิกการทดลองงานและให้โจทก์พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาทดลองการจ้างแรงงานเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2540 มาตรา 17 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน ข้อ 1 ระบุว่า “ผู้จ้างตกลงจ้างผู้รับจ้างเป็นประชาสัมพันธ์ทดลองงานของโรงเรียนวิชัยวิทยา เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2547 (เป็นเวลา 3 เดือน) ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 7,000.00 บาท (เจ็ดพันบาทถ้วน)” และตามหนังสือการสังเกตการณ์ผลงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นหนังสือสังเกตการณ์ผลงานของโจทก์ โจทก์ได้คะแนนรวมจากการประเมินผลงาน 11 คะแนน จาก 35 คะแนน หนังสือดังกล่าวระบุว่า “คุณมีการผิดพลาดในงานเอกสารและทำงานล่าช้า คุณควรมีการปรับปรุงการทำงาน ทางโรงเรียนจะพิจารณาการผ่านงานของคุณในครั้งที่สอง และแจ้งให้คุณทราบอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน” จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดลองงานต่อไปหลังจากที่ครบกำหนดตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน ข้อ 1 ไปจนถึงสิ้นสุดภาคเรียนโดยไม่ได้กำหนดวันที่ให้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดการทดลองงานวันใดดังเช่นที่ระบุในสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานต่อมาจึงไม่แน่ว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใดจึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อสัญญาทดลองการจ้างแรงงาน (สัญญาจ้างทดลองงาน) เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการบอกเลิกสัญญาจ้างจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาทดลองการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2548 ขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น

        มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ต้องนับระยะเวลาทดลองงานรวมเข้าเป็นระยะเวลาการทำงานของโจทก์เพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (1) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง โดยลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงาน จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้างไม่ว่าจะมีการทดลองงานหรือไม่จนถึงวันเลิกจ้าง หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วถูกเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังกล่าว เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 แล้วถูกเลิกจ้างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งตามหนังสือแจ้งผลการทดลองงานไม่ได้ระบุเหตุผลว่าเป็นการเลิกจ้างกรณีหนึ่งกรณีใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
          พิพากษายืน
( รัตน กองแก้ว - พิชิต คำแฝง - สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ )
ศาลแรงงานกลาง - นายวีระชาติ กุลอัศยศิริ
  สัญญาจ้างทดลองงาน 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่าย หนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราว ถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตาม มาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้าง ให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอก กล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตาม มาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตาม มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และ มาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US