คู่สมรสและการแบ่งมรดกของคู่สมรส | การสมรสเป็นโมฆะ

คู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมของคู่สมรสที่เสียชีวิต ส่วนแบ่งมรดกเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าการสมรสเป็นโมฆะมีผลกับมรดกของคู่สมรสที่ตายอย่างไร? มีสิทธิรับมรดกหรือไม? บุตรที่เกิดมามีสิทธิรับมรดกของบิดาที่ตายหรือไม่?
คู่สมรส เป็นปัญหาสำคัญในกฎหมายลักษณะมรดก เพราะคู่สมรสฝ่ายที่มีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคท้าย การคิดส่วนแบ่งระหว่าคู่สมรสต้องเป็นไปตามมาตรา 1625 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องเป็นไปตาม มาตรา 1635 กรณีเช่นใด การสมรสจึงเป็นโมฆะ และผลของการสมรสที่เป็นโมฆะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างไรบ้าง และก่อให้เกิดสิทธิรับมาดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงโดยเฉพาะเมื่อพิพากษาให้เพิกถอน เพราะการสมรสตกเป็นโมฆียะ การสมรสจะตกเป็นโมฆียะเพราะเหตุใด การบังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆียะนั้น จะมีผลอย่างไรและเมื่อใด นอกจากนั้นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629(1) ซึ่งเกิดจากบิดาและมารดาสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรดังกล่าวจะมีสิทธิรับมรดกของบิดาเจ้ามรดกได้ต้องอาศัยบทบัญญัติมาตราใดมาบังคับ ซึ่งก็ได้แก่มาตรา 1536 ถึงมาตรา 1560 หากบุตรซึ่งเกิดขึ้นจากบิดาเจ้ามรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะรับมรดกได้อย่างใดนั้น ก็ต้องนำมาตรา 1547 หรือมาตรา 1627 มาปรับเพื่อพิจารณาในการแบ่งมรดกต่อไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาและสนใจเป็นพิเศษ สาระสำคัญในส่วนนี้มีดังนี้
มาตรา 1629, 1625, 1635, 1547, 1627
มาตรา 1629 "ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635"

มาตรา 1625 "ถ้าผู้ตายเป็นผู้สมรสแล้ว การคิดส่วนแบ่งและการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นนั้นให้เป็นไปดั่งนี้
(1) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย็สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ในมาตรา 1637 และ 1638 และโดยเฉพาะ ต้องอยูในบังคับแห่งมาตารา 1513 ถึง 1517 แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น
(2) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ นอกจากมาตารา 1637 และ 1638"

มาตรา 1635 "ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629(1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629(3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาท ตามมาตรา 1629(1) แต่มีมีทายาทตาม 1629(2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
(3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629(4) หรือ (6) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
(4) ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด"

มาตรา 1547 "บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก"
มาตรา 1627 "บุตรนอกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลลกฎหมายนี้"

คู่สมรส แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
(1) กฎหมายลักษณะผัวเมีย คือ เป็นสามีภริยาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นคู่สมรสกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส

ข้อสังเกต
ก. ชายมีภริยาได้หลายคน แม้เมื่อมีกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ภริยาเหล่านั้นก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย และจะสัมพันธ์กับมาตรา 1636 คือ
ข. การจัดการทรพัย์สินต้องใช้กฎหมายปัจจุบัน
ค. การตัดสัมพันธ์ในครอบครว เช่น การฟ้องหย่า ต้องใช้มาตรา 1516 ในปัจจุบันบังคับ

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 991/2501

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาจำเลยก่อนใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เกิดบุตร 6 คนโจทก์มีสินเดิมเงินสด 30 บาท จำเลยไม่มีอะไรเกิดสินสมรสคือที่บ้าน 1 แปลง เรือนพร้อมครัว 1 หลัง ยุ้ง 1 หลังราคาประมาณ 30,000 บาท และจักรยาน 1 คันราคา 400 บาท เกวียนพร้อมโค 1 คู่ราคา 2,800 บาท เงินสดฝากคนอื่นไว้ 20,000 บาทเมื่อ 8 ปีมานี้จำเลยบังอาจหมิ่นประมาทด่าบิดามารดาโจทก์ ทำร้ายโจทก์ ขับไล่โจทก์และบุตรออกจากบ้านไปอาศัยคนอื่นอยู่ แรก ๆ จำเลยยังส่งเสียให้การศึกษาบุตร ต่อมาเพิกเฉย และมีภรรยาใหม่ โจทก์จึงฟ้องขอหย่า แบ่งสินสมรสและให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตร ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

จำเลยให้การว่า โจทก์หนีไปอยู่ที่อื่น จึงถือว่าโจทก์หย่าขาดจากจำเลยโจทก์จำเลยมีบุตรด้วยกันเพียง 5 คน โจทก์ไม่มีสินเดิมส่วนจำเลยมีสินเดิม ซึ่งที่บ้านเป็นสินเดิมด้วย ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยากันจำเลยปลูกเรือน 1 หลัง แต่ขายแล้ว ส่วนทรัพย์สินอื่นตามที่โจทก์อ้างไม่มี ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรมากเกินสมควร

นางยอดเรือนร้องสอดเป็นจำเลยร่วมอ้างว่าเรือนพร้อมครัว 1 หลังยุ้ง 1 หลังเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอด โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน ที่บ้าน 1 แปลงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย ให้แบ่ง 3 ส่วน โจทก์ได้ 1 ส่วน จำเลยได้ 2 ส่วน เรือนและยุ้งจำเลยกับนางยอดเรือนถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่งส่วนของจำเลยเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย ให้แบ่ง 3 ส่วน โจทก์ได้ 1 ส่วน จำเลยได้ 2 ส่วน การแบ่งไม่ตกลงให้ประมูลหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินกัน ให้จำเลยเป็นผู้ปกครองบุตร หากไม่ประสงค์เช่นนี้ให้โจทก์ปกครองและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 150 บาทจนกว่าบุตรบรรลุนิติภาวะ

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันโจทก์แยกไปอยู่ที่อื่น ขณะนั้นเป็นเวลาที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับแล้วเหตุที่จะขาดจากสามีภรรยาจึงต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เมื่อโจทก์ร้างไปแล้ว จำเลยขายที่ดินสินสมรสแล้วนำเงินไปซื้อที่ดินพิพาทแทนมาที่ดินพิพาทก็ต้องเป็นสินสมรส ส่วนเรือนและยุ้ง จำเลยและนางยอดเรือนช่วยกันปลูก จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาระหว่างโจทก์จำเลยร้างกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งเป็นสินสมรส และเรื่องค่าขึ้นศาลจำเลยจะพึงชำระต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี พิพากษาแก้ไม่ให้แบ่งส่วนสินสมรสจากเรือนและยุ้งให้โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยเสียเกินมา
( นิติธรรมประกรณ์ - ประวัติ ปัตตพงศ์ - จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ )

ง. สามีสละภริยาไปบวชเป็นพระภิกษุสามเณร หรือภริยาสละสามีไปบวชชี ถือว่าขาดจากการสมรส

กฎหมายลักษณะผัวเมีย อนุญาตให้ชายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ทั้งได้จัดลำดับชั้นของภริยาตามวิธีการที่ชายได้หญิงนั้นมา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เมียกลางเมือง หมายถึง หญิงอันบิดามารดากุมมือยกให้เป็นภริยาของชายซึ่งถือว่าเป็นภริยาหลวง ส่วนอีก 2 ประเภท คือ เมียกลางนอก หรืออนุภริยา และเมียกลางทาสี หรือสาสภริยา การที่ฐานะลดหลั่นกันลงมาตามวิธีการที่ชายได้หญิงนั้นมาเป็นภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7254/2539

ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียอนุญาตให้ชายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้หลายคนในเวลาเดียวกันทั้งได้จัดลำดับชั้นของภริยาตามวิธีการที่ชายได้หญิงนั้นมาเป็นภริยาออกเป็น3ประเภทด้วยกันได้แก่เมียกลางเมืองเมียกลางนอกหรืออนุภรรยาและเมียกลางทาษีหรือทาษภรรยาสำหรับเมียกลางเมืองนั้นหมายถึงหญิงอันบิดามารดากุมมือยกให้เป็นภริยาของชายซึ่งถือเป็นภริยาหลวงส่วนภริยาอีก2ประเภทก็มีฐานะลดหลั่นกันลงมาตามวิธีการที่ชายได้หญิงนั้นมาเป็นภริยาหรือตามลักษณะที่ชายเลี้ยงดูเชิดชูหญิงว่าเป็นภริยาแต่ไม่ว่าจะเป็นภริยาในลำดับชั้นใดก็ตามต่างก็ถือว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้นดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าบิดามารดาของโจทก์จะได้กุมมือยกโจทก์ให้เป็นภริยาของผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มิได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ตายกับโจทก์ได้อยู่กินกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี2464ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5เดิมมีผลบังคับใช้และมีบุตรด้วยกันถึง6คนและตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา5บัญญัติว่าบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้นการสมรสฯลฯที่ได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้เมื่อมีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าผู้ตายกับโจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รู้กันทั่วไปและมิได้ทิ้งร้างกันแต่อย่างใดผู้ตายกับโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ตลอดมาส่วนจำเลยนั้นเพิ่งอยู่กินกับผู้ตายเมื่อปี2491ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5เดิมใช้บังคับแล้วแม้จำเลยกับผู้ตายจะมีบุตรด้วยกัน4คนแต่เมื่อรับฟังได้ว่าผู้ตายกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วการที่ผู้ตายได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกเช่นนี้การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา1452และมาตรา1496ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางจรัสลักษณ์ กรรณเลขาเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจจัตวามงคล จึระเศรษฐ โดยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2462 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2533 พลตำรวจจุตวามงคลถึงแก่ความตาย ต่อมาโจทก์ทราบว่าพลตำรวจจุตวามงคลได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2528 ในขณะที่พลตำรวจจัตวามงคลมีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่ตามสำเนาทะเบียนการสมรสท้ายฟ้องหมายเลข 4 การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495 ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างพลตำรวจจัตวามงคลกับจำเลยเป็นโมฆะและให้เจ้าพนักงานสำนักงานทะเบียนห้วยขวางจดทะเบียนเพิกถอนการสมรสดังกล่าว

จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ภริยาตามกฎหมายของพลตำรวจจัตวามงคลจีระเศรษฐ เพราะตามกฎหมายลักษณะผัวเมียนั้นระบุในหมวด ก. ว่าอันลักษณะเมียนั้นมีสามประการ ประการหนึ่ง หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย ได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางเมือง ประการหนึ่งชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวง ได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางนอกประการหนึ่ง หญิงใดทุกข์ยากชายช่วยไถ่ถอนได้มาเห็นหมดหน้าเสี่ยงเป็นเมีย ได้ชื่อว่าเมียกลางทาษี โจทก์เป็นเพียงคนรับใช้ในบ้านของพลตำรวจจัตวามงคล ไม่มีบิดามารดาไม่ได้รับการศึกษา ถึงแม้จะได้กับพลตำรวจจัตวามงคลก็ไม่ได้รับการยกย่องแต่อย่างใด จึงไม่เข้าลักษณะเมียตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย พระราชบัญญัติเลิกร้างกับโจทก์มาเป็นเวลานานแล้ว จำเลยกับพลตำรวจจัตวามงคลอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยตั้งแต่ปี 2493 และจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเมื่อวันที่ 29ตุลาคม 2528 หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นเอกสารเท็จ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การสมรสระหว่างพลตำรวจจัตวามงคลจีระเศรษฐกับจำเลยเป็นโมฆะ คำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าพลตำรวจจัตวามงคล จีระเศรษฐ ผู้ตาย ได้โจทก์เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2462 และมีบุตรด้วยกัน 6 คน ต่อมา ปี 2491 ผู้ตายได้จำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่งและมีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2528 ผู้ตายจึงได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย วันที่ 12 มิถุนายน 2533 ผู้ตายได้ถึงแก่ความตาย ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้ไปยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดของผู้ตาย ทางกรมบัญชีกลางจึงให้ทั้งโจทก์และจำเลยไปดำเนินคดีทางศาลว่าผู้ใดเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจจัตวามงคล จีระเศรษฐ ผู้ตายนั้น โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายอยู่หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาประการแรกว่า การสมรสก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม ใช้บังคับ จะชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องให้บิดามารดาทั้งสองฝ่ายรับทราบโดยกุมมือยกฝ่ายหญิงให้แก่ฝ่ายชาย แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีการกระทำดังกล่าวระหว่างผู้ตายกับโจทก์จึงถือว่าผู้ตายและโจทก์ไม่ได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียนั้น เห็นว่า ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียอนุญาตให้ชายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ทั้งได้จัดลำดับชั้นของภริยาตามวิธีการที่ชายได้หญิงนั้นมาเป็นภริยาออกเป็น 3 ประเภทด้วยได้ ได้แก่ เมียกลางเมือง เมียกลางนอกหรืออนุภรรยาและเมียกลางทาษีหรือทาษภรรยา สำหรับเมียกลางเมืองนั้นหมายถึง หญิงอันบิดามารดากุมมือยกให้เป็นภริยาของชายซึ่งถือเป็นภริยาหลวง ส่วนภริยาอีก 2 ประเภทก็มีฐานะลดหลั่นกันลงมาตามวิธีการที่ชายได้หญิงนั้นมาเป็นภริยา หรือตามลักษณะที่ชายเลี้ยงดูชูเชิดหญิงว่าเป็นภริยา แต่ไม่ว่าจะเป็นภริยาในลำดับชั้นใดก็ตามต่างก็ถือว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้นดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า บิดามารดาของโจทก์จะได้กุมมือยกโจทก์ให้เป็นภริยาของผู้ตาย ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มิได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายด้วยเหตุดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า ผู้ตายได้ทิ้งร้างโจทก์มาอยู่กับจำเลยเป็นเวลา 40 ปีเศษแล้ว จึงทำให้การเป็นสามีภริยาระหว่างผู้ตายกับโจทก์ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับสิ้นสุดลง โดยไม่ต้องจดทะเบียนการหย่าอีก ผู้ตายกับโจทก์จึงมิได้เป็นสามีภริยากันในขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้น เห็นว่า ผู้ตายกับโจทก์ได้อยู่กินกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2462 ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมมีผลบังคับใช้ และมีบุตรด้วยกันถึง 6 คน ซึ่งคนที่ 1และที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว คนที่ 3 อายุ 63 ปี คนที่ 4 อายุ 59 ปีคนที่ 5 อายุ 54 ปี และคนที่ 6 อายุ 50 ปี และตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่าบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้นการสมรส ฯลฯ ที่ได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ที่ผู้ตายทำขึ้นเพื่อยกที่ดินให้แก่บุตรเมื่อปี 2495 มีข้อความระบุว่า โจทก์เป็นภริยาผู้ตายตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.5 ที่ผู้ตายทำขึ้นเมื่อปี 2506 เพื่อให้โจทก์ทำนิติกรรมจำนองกับบุคคลอื่นก็ระบุว่าโจทก์เป็นภริยาและหนังสืออนุสรณ์ในงานณาปนกิจศพของนางชุ่มโพธิประดิษฐ ซึ่งเป็นพี่ของผู้ตายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2513ได้มีการลำดับญาติในตระกูลเดียวกันระบุว่าโจทก์เป็นภริยาผู้ตายนอกจากนี้ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งผู้ตายมีชื่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็มีชื่อโจทก์อยู่ในลำดับ 2 โดยมีฐานะเป็นภริยาหัวหน้าครอบครัว ทั้งปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.8ถึง จ.12 ประกอบคำเบิกความของนายสมควร จีระเศรษฐ บุตรโจทก์กับผู้ตายว่า เป็นภาพถ่ายของโจทก์กับผู้ตายนั่งคู่กันให้บุตรหลานรดน้ำเนื่องในวันเกิดของผู้ตาย โดยถ่ายหลังจากปี 2528 แสดงว่าผู้ตายกับโจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยเปิดเผย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและมิได้ทิ้งร้างกันแต่อย่างใด ผู้ตายกับโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ตลอดมา ส่วนจำเลยนั้นเพิ่งอยู่กินกับผู้ตายเมื่อปี 2491 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม ใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยกับผู้ตายจะมีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่เมื่อรับฟังได้ว่าผู้ตายกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว การที่ผู้ตายได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกเช่นนี้ การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1452 และ มาตรา 1496ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
พิพากษายืน
( อธิราช มณีภาค - มงคล สระฏัน - วุฒิ คราวุฒิ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้"
มาตรา 1496 "คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตารา 1450 และมาตารา 1458 เป็นโมฆะ
คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้"

มาตรา 1495 "การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ"
2. สามีภริยาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เก่า คือสามีภริยาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2519

ข้อสังเกต มีดังนี้
ก. ยกเลิกกฎหมายลักษณะผัวเมียทั้งหมด
ข. อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 มาตรา 4 บัญญัติว่า เมื่อใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เช่น การรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่า ไม่ต้องมีการจดทะเบียน เมื่อใช้บรรพ 5 แล้ว ก็ต้องถือว่า เป็นบุตรบุญธรรมที่สมบูรณ์ ไม่ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมกันใหม่อีก อย่างไรก็ดีหากเป็นเรื่อง การตัดสัมพันธ์ในครอบครัว แล้ว จะต้องใช้บทบังคับตามบทบัญญัติแห่งบรรพ 5 เช่น เหตุหย่า ต้องใช้มาตารา 1516

3. ป.พ.พ. ยรรพ 5 ใหม่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2533

ข้อสังเกต มีดังนี้
ก. มีบทบัญญัติเพิ่ม ป.พ.พ. บรรพ 5 วรรคเดิม รวม 41 มาตรา
ข. บัญญัติให้สามีภริยามีอำนาจจัดการทรัพย์สินในระหว่างสามีภริยาเท่าเทียมกัน
ค. ไม่มีผู้ใดเป็นหัวหน้าในครอบครัว สามีภริยาต้องปรึกษาหารือกันในเรื่องที่อยู่อาศัย
ง. บิดาและมารดามีอำนาจปกครองบุตรเท่าเทียมกัน
จ. ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเดิม มีสินส่วนตัว สินเดิม สินสมรส เมื่อแก้แล้วคงมีทรัพย์สิน 2 ชนิด คือ สินส่วนตัว และสินสมรส

4. ป.พ.พ. บรรพ 5 ซึ่งแก้ไขหหม่ ปี 2533 ใช้บังคัยตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2533 มีการแก้ไขเพื่มเติมรวม 77 มาตรา
ข้อสังเกต มีดังนี้
ก. การหมั้นจะต้องมีของหมั้น ถ้าไม่มีของหมั้น การหมั้นนั้นไม่สมบูรณ์ และของหมั้นจะตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นในทันทีทีหมั้นกัน

มาตรา 1437 "การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตารา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

ข. ถ้าคู่หมั้นไม่ว่าชายหรือหญิงตายก่อนสมรส หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดแก่ฝ่ายชาย

มาตรา 1441 "ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงตาย หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคึนให้แก่ฝ่ายชาย"

ค. การสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิกล่าวอ้างขึ้นได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้ศาลมีคำพิพากษา แม้คู่สมรสจะทำการสมรสซ้อนโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 1497 "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืน มาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้"
มาตรา 1499 วรรคสอง "การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง"

ง. ลดอายุผู้รับบุตรบุญธรรมลงเหลือเพียง 25 ปี
มาตรา 1598/19 "บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี"
ความเป็นโมฆะของการสมรส
มาตรา 1494 "การสมรสจะเป็นโมฆะก็แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ในหมวดนนี้"
มาตรา 1495 "การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ"
มาตรา 1496 "คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตารา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้"
มาตรา 1497 "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้"
มาตรา 1497/1 "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสใดเป็นโมฆะให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเยียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส"
มาตรา 1498 "การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นนของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัวภาระในการหาเลี้ยงชีพฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว"
มาตรา 1499 "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืน มาตารา 1449 มาตารา 1450 หรือมาตรา 1458 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ
การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุตริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

การนมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตารา 1449 ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณีฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ในนำมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตารา 1458 หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452"

มาตารา 1499/1 "ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด หรือฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ให้ทำเป็นหนังสือ หากตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ในการพิจารณาชี้ขาด ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ และให้นำความใน มตรา 1521 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

มาตรา 1500 "การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสตามมาตรา 1497/1"
ข้อสังเกต
(1) มาตรา 1494 วางหลักว่า การสมรสจะเป็นโมฆะก็แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. เท่านั้น
(2) เมื่อการสมรสตกเป็นโมฆะแล้วก็ไม่อาจสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ได้
(3) เหตุแห่งการสมรสที่จะเป็นโมฆะได้นั้น ตามมาตรา 1495 คือการสมรสที่ฝ่าฝืน มรตรา 1449, 1450, 1452 และ มาตรา 1458 แสดงว่ามีอยู่ 4 กรณี เทานั้น คือ
มาตรา 1449 "ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ"
มาตรา 1450 "ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี โดยความเป็นญาติดังกล่าวให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่"
มาตรา 1452 "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้"
มาตรา 1458 "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย"

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US