ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญาคือ "ทรัพย์สินที่ไม่ใช่วัตถุทางกายภาพ แต่เจ้าของมีสิทธิโดยชอบธรรม ที่จะให้, ให้เช่า, โอนมอบอำนาจ, หรือใช้เป็นสินจำนองได้"

คำว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" เป็นคำที่แปลมาจาก ภาษาอังกฤษคำว่า "intellectual property" ซึ่งทางทฤษฎีแยกเป็นงาน 2 กลุ่มด้วยกันคือ ทรัพย์สินทางอุสาหกรรม (industrial property) กับ เป็นลิขสิทธิ์และสิทธิข้าเคียง (copyright and neighbouring rights) ซึ่งทรพัย์สินทางอุตสาหกรรมได้แก่ เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า การออกแบบแผนผังภูมิของวงจรรวม ความลับทางการค้า สิทธิบัตร ไม่ว่าจะเป็นสิทธบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรืออนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์

ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง จะเป็นงานทางด้านสุนทรียภาพ งานหลักก็คืองานวรรณกรรมกับงานศิลปกรรม ลิขสิทธิ์ก็เหมือนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นนั่นคือ เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง สิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองก็คือ สิทธิ สิทธิหลักคือสิทธิที่จะทำซ้ำหรือทำสำเนา สิทธิในทรัพย์สินที่มีรูปร่างจะมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 เรื่อง ทรัพย์สิน วางหลักเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองไว้ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่อาจที่จะนำมาใช้บังคับแก่ทรัพย์สินทางปัญญาได้ ทรัพย์สินทางปัญญาต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะ

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 คำว่า "ลิขสิทธ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นอันได้แก่ สิทธตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 คือ สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในลิขสิทธิ์

1. ลิขสิทธิ์ (Copyright)
(สิทธิในการเป็นเจ้าของความคิด ที่คิดค้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียน)

ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) อย่างหนึ่ง ทรัพย์สินทางปัญญามีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากทรัพย์สินที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 อันได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ กับสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ไม่มีรูปร่าง กล่าวคือ เป็นสิทธิหวงกันของเจ้าของที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นสิทธิที่จะห้ามไม่ให้ผู้อื่นนำงานของเจ้าของไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันมิใช่สิทธิในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสิทธิที่กฎหมายให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานหรือผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้นผู้ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในวัตถุมีรูปร่างจึงอาจจะไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เป็นได้ เช่น นายสมซื้อหนสังสือหรือภาพเขียนมา นายสมก็มีเฉพาะกรรมสิทธ์ในหนังสือหรือภาพเขียนนั้นโดยนายสมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายหนังสือ หรือภาพเขียนนั้นได้ ตลอดจนมีสิทธิให้เช่าติดตามและเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแม้ไม่พอใจนายสมจะทิ้ง เผาทำลายหนังสือหรือภาพเขียนนั้นก็ได้ แต่นายสมไม่มีสิทธิที่จะนำหนังสือนั้นไปพิมพ์ซ้ำแล้วขายต่อหรือนำภาพเขียนนั้นไปดัดแปลงเป็นบัตรอวยพร ส.ค.ส. สำหรับวันขึ้นปีใหม่แล้วผลิตออกจำหน่าย เพราะสิทธิดังกล่าวกฎหมายให้ไว้แก่ผู้สร้างสรรค์หรือผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม จิตรกรรมหรือศิลปกรรมเท่านั้น หากนายสมกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4076/2533 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองซื้อภาพพิพาทไปจากโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยขายลิขสิทธิ์ในภาพพิพาทให้จำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองนำภาพที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสองไปพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองถือว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน จึงนำมาใช้บังคับแก่ลิขสิทธิ์ไม่ได้ ต้องนำกฎหมายลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมาใช้บังคับ ฉะนั้น ลิขสิทธิ์จึงไม่อาจมีการครอบครองปรปักษ์ได้ ซึ่งษลฎีกาเคยวินิจฉัยยืนยันหลักไว้ แม้จะเป็นการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แต่ก็ยังคงใช้เป็นบรรทัดฐานได้ในปัจจุบัน คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2534

เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้แก่ป. ต่อมา ป. ขายต่อให้จำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทระหว่าง ป. กับโจทก์เป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ แต่การโอนสิทธิหรือใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้ ป. ไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทที่จะขายให้จำเลย เพลงพิพาทยังเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาท โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ในแผ่นเสียงที่ผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. ที่กระดาษกลางแผ่นเสียงมีข้อความระบุว่า เนื้อร้องและทำนองเป็นของผู้ใด ใครเป็นผู้ขับร้อง จำเลยทั้งสองจึงทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงพิพาทจำเลยทั้งสองมิได้ซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. โดยสุจริตเพราะหากจำเลยทั้งสองสุจริตจริงก่อนซื้อจำเลยทั้งสองน่าจะให้ป. แสดงหลักฐานว่า ป. ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากโจทก์แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ ป. แสดงหลักฐานดังกล่าวและจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อลิขสิทธิ์จากโจทก์มาแสดง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว โจทก์เพิ่งทราบว่า จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอายุการครอบครองหรือการครอบครองปรปักษ์นั้น มีได้เฉพาะกับทรัพย์สินเพียง 2 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4ทรัพย์สิน มุ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสำคัญ ส่วนลิขสิทธิ์แม้จะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนไม่อาจจัดเป็นทรัพย์สินในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ได้ กล่าวคือลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ลิขสิทธิ์""งาน" และ "ผู้สร้างสรรค์" กับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ให้ความหมายของคำว่า "สิทธิแต่ผู้เดียว" ไว้โดยเฉพาะแล้ว สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองจึงต่างกับสิทธิในกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในนามธรรมซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแก่รูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ เป็นผลงาน 8 ประเภทตามคำจำกัดความของคำว่า"งาน" ดังกล่าวข้างต้น การจะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ส่วนผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์ งานอาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8มาตรา 12 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น และลิขสิทธิ์มิได้มีอายุแห่งการคุ้มครองโดยไม่จำกัดเวลาอย่างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แต่มีอายุแห่งการคุ้มครองจำกัดและสิ้นอายุแห่งการคุ้มครองได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มิได้บัญญัติให้ผู้ใดอาจมีลิขสิทธิ์ได้โดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งสภาพของลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจมีการครอบครองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 13 ดังเช่นสิทธิในกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการครอบครองได้ สิ่งที่จำเลยทั้งสองครอบครองไว้จึงเป็นเพียงการครอบครองแผ่นกระดาษที่มีเนื้อเพลงพิพาทอันเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดสิทธิในลิขสิทธิ์ได้แต่อย่างใด การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะได้มาโดยทางใดได้บ้างเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะเรียกสำนวนคดีอาญาเรื่องอื่นของศาลชั้นต้นมาเป็นพยานของศาลในคดีนี้ ซึ่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 239 และ 240 แต่เท่าที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและพิพากษามา มิได้ใช้ข้อเท็จจริงอันเกิดจากสำนวนคดีดังกล่าวเลย ไม่ทำให้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองต้องเสียไป คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว.

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนักแต่งเพลงใช้ชื่อว่า"อ.กวี สัตตโกวิท" ได้ประพันธ์ เนื้อร้องหรือคำร้องและให้ผู้มีชื่อประพันธ์ทำนองเพลงไว้หลายเพลงอันได้แก่ เพลงฟ้ารำสึก และเพลงครวญสวาท เพลงดังกล่าว โจทก์ให้ผู้มีชื่อร้องประกอบดนตรีและได้ทำการสร้างสรรค์โดยการบันทึกลงแผ่นเสียงนำออกเผยแพร่โฆษณาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว คำร้องหรือเนื้อร้องในงานเพลงดังกล่าว จึงเป็นดนตรีกรรมอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2529 โจทก์พบรายการเทปตรามงกุฎที่จำเลยที่ 1 ทำการโฆษณาเพื่อจำหน่ายและที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเพลงฟ้ารำลึกซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปบันทึกลงในแถบบันทึกเสียหรือเทปอันเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลง เพื่อนำออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือได้ รับอนุญาตจากโจทก์ และต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์พบโสตทัศนวัสดุที่เป็นแถบบันทึกเสียงหรือเทปเพลงที่จำเลยทั้งสองสมคบกันทำขึ้นเพื่อจำหน่ายจำนวน 2 ม้วน คือ ชุดที่ขับร้องโดยนายสุเทพ วงศ์กำแหง มีเพลงฟ้ารำลึก และชุดที่ขับร้องโดยนายทนงศักดิ์ ภักดีเทวา มีเพลงครวญสวาท ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นทะเลรักบันทึกลงในเทปเพลงดังกล่าว อันเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมของโจทก์ และการกระทำของจำเลยทั้งสองมีวัตถุประสงค์ในทางการค้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 27, 43, 44ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 24, 43วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 100,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์แทนส่วนจำเลยที่ 2 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน 2 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เพลงที่พิพาทกันในคดีนี้โจทก์เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นเมื่อปี 2503 ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตเทปคาสเซ็ท และแผ่นเสียงบันทึกเพลงดังกล่าวออกจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต จากโจทก์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาทให้แก่นายประชา วรานนท์ ต่อมานายประชาขายต่อให้จำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่งจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาท เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่านายประชาซื้อลิขสิทธิ์เพลงพิพาทจากโจทก์นั้น ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ แต่การโอนสิทธิหรือใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ นายประชาซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับเพลงจนมีชื่อเสียงในขณะนั้นย่อมจะทราบดีเมื่อจำเลยและนายประชาไม่มีหนังสือที่อ้างว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้มาแสดง ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้นายประชาหรือ ปอ วรานนท์ดังนั้น นายประชาจึงไม่มีลิขสิทธิ์เพลงพิพาทที่จะขายให้แก่จำเลยเพลงพิพาทยังเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยทั้งสองได้ซื้อเพลงพิพาทมาตามเอกสารหมาย ล.5 นั้น เมื่อฟังว่านายประชาไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทเสียแล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัยในข้อนี้ต่อไปเมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำกระละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าเพลงพิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ในทางนำสืบของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในแผ่นเสียหมาย จ.8ซึ่งผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อลิขสิทธิ์จากนายประชาที่กระดาษกลางแผ่นเสียงมีข้อความระบุว่าเนื้อร้องเป็นของใครทำนองเป็นของใคร ใครเป็นผู้ขับร้อง ดังนั้น จำเลยทั้งสองย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้องเพลงพิพาท และไม่อาจเป็นได้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองซื้อลิขสิทธิ์เพลงพิพาทมาจากนายประชาโดยสุจริต ไม่ทราบว่านายประชาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพราะหากจำเลยทั้งสองสุจริตจริง ก่อนซื้อจำเลยทั้งสองก็น่าจะให้นายประชาแสดงหลักฐานว่านายประชาได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากโจทก์แล้วในเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้นายประชาแสดงหลักฐานดังกล่าวและจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อลิขสิทธิ์จากโจทก์มาแสดงเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงที่โจทก์ นำสืบฟังได้ว่า โจทก์พบเทปคาสเซ็ท หมาย จ.6และ จ.7 ของจำเลยทั้งสองวางขายอยู่ในท้องตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2529จึงซื้อมาเปิดฟังและทราบว่าจำเลยทั้งสองนำเพลงพิพาทมาอัดใส่เทปคาสเซ็ท ดังกล่าวออกขาย จำเลยทั้งสองนำสืบหักล้างไม่ได้ คดีนี้ฟังได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ 10 กันยายน 2529 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองได้ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่าการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอายุการครอบครองหรือการครอบครองปรปักษ์นั้นมีได้เฉพาะกับทรัพย์สินเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน มุ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสำคัญส่วนลิขสิทธิ์แม้จะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนไม่อาจจัดเป็นทรัพย์สินในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ได้ กล่าวคือลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ได้บัญญัติว่า "ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้ สร้างสรรค์ ได้ทำขึ้น "งาน"หมายความว่า งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรมดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพหรืองานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปและ "ผู้ สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง สิทธิแต่ผู้เดียวในที่นี้ก็คือ สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณา ให้ประโยชน์อันเกิดจาก ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และ สิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองจึงต่างกับสิทธิในกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในนามธรรม ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแก่รูปแบบของแสดงออก ซึ่งความคิดของผู้ สร้างสรรค์ เป็นผลงาน 8 ประเภทข้างต้นการจะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ งานจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ส่วนผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์ งานอาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการรับโอนหรือโดยทางมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 หรืออาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 หรือในฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ เท่านั้น และลิขสิทธิ์มิได้มีอายุแห่งการคุ้มครองโดยไม่จำกัดเวลาอย่างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แต่มีอายุแห่งการคุ้มครองจำกัดและสิ้นอายุแห่งการคุ้มครองได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มิได้บัญญัติให้ผู้ใดอาจมีลิขสิทธิ์ได้โดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งสภาพของลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจมีการครอบครองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 13 ดังเช่นสิทธิในกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการครอบครองได้ สิ่งที่จำเลยทั้งสองครอบครองไว้จึงเป็นเพียงการครอบครองแผ่นกระดาษที่มีเนื้อเพลงพิพาทอันเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดสิทธิในลิขสิทธิ์ขึ้นได้แต่อย่างใด การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะได้มาโดยทางใดได้บ้าง ก็เป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาใจความว่าเมื่อคู่ความสืบพยานเสร็จแล้วศาลได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2กรกฎาคม 2530 แต่ถึงวันนัดศาลกลับมีคำสั่งให้เลื่อนการฟ้องคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 14 กรกฎาคม 2530 เนื่องจากศาลเห็นว่า มีพยานหลักฐานจากสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4322/2529 คดีหมายเลขแดงที่8750/2529 ระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ นาย กวี จุลศรีพานิชหรือจูฑ ศรีพานิช จำเลย ของศาลชั้นต้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจะเรียกสำนวนดังกล่าว เข้ามาเป็นพยานของศาลในคดีนี้ แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่ทราบ จึงแจ้งให้โจทก์และ จำเลยทราบ หากโจทก์และจำเลยจะแถลงคัดค้านประการใดก็ให้แถลงเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน ถ้าไม่ยื่นถือว่าไม่คัดค้าน รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2530 ศาลชั้นต้นจึงดำเนิน กระบวนพิจารณาไม่ชอบ เห็นว่า กระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลไม่อาจทำเช่นรายละเอียดในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2530 ได้ เพราะสำนวนดังกล่าวที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นพยานมิได้มีคู่ความฝ่ายใดอ้าง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 239 และ 240 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเท่าที่ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณาและพิพากษามาดังกล่าวข้างต้นนั้นมิได้ใช้ข้อเท็จจริงอันเกิดจากสำนวนคดีที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาข้อนี้เลย จึงไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาเป็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.
( ชุม สุกแสงเปล่ง - เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์ - พินิจ ฉิมพาลี )

ส่วนคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" มีความหมายอย่างไรนั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้ความหมายไว้เพียงว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น

2. สิทธบัตร (Patents)
(สิทธิในความเป็นเจ้าของความคิด หรือผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นได้ แต่ทว่าจะต้องไปจดทะเบียนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อผลทางการค้าหรืออื่นๆ )

3. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)
(เป็นตัวแสดงถึง ความเป็นผู้นำทางด้านสินค้านั้น ซึ่งจะใช้ตัวย่อ TM กำกับบนชื่อสินค้านั้น ๆ เสมอ)

4. ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
(ความลับในสูตร หรือขั้นตอนในการผลิตที่เป็นเฉพาะ)

ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญากับ Software computer เราจัดว่าอยู่ในกลุ่มของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ โดยผู้ที่ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย คือ สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาสังกัดกระทรวงพาณิชย์นั้นเอง

ความเป็นมาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 แล้ว แต่ทว่า พ.ร.บ. ในสมัยนั้นไม่ได้รวมความคุ้มครองเรื่อง Software Computer เอาไว้ และได้เริ่มรวมคุ้มครองลิขสิทธิ์ Software Computer เข้ากับ พ.ร.บ. นี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา

ดังนั้นหาก Software Computer ใดกระทำการซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ก่อนหน้าวันที่ 21 มีนาคม 2538 ก็ถือว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้

การกระทำอย่างไรถือว่าผิด พ.ร.บ. นี้
การทำซ้ำ คือ "การคัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

การดัดแปลง คือ "ทำซ้ำโดยเปลี่ยนแปลงรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่"

ข้อยกเว้นใน พ.ร.บ. นี้
1.วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
2.ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรม
3.ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยมีการรับรู้ถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
4.เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยมีการรับรู้ถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
5.สำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควร โดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับสิทธิ์อย่างถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย
6.ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาล หรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือใช้รายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
7.นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
8.ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
9.จัดทำ สำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับอ้างอิงหรือค้นคว้าหรือประโยชน์ของสาธารณชน

ระยะเวลาคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
บุคคลธรรมดา คุ้มครองตลอดชีวิตและอีก 50 ปีหลังจากที่เสียชีวิต
นิติบุคคล คุ้มครอง 50 ปี หรือตั้งแต่ที่เริ่มประกาศ (โฆษณา)

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์
ในกรณีที่เราละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. นี้ มีโทษปรับระหว่าง 20,000 - 200,000 บาท แต่ทว่าหากการละเมิดนั้นเป็นการกระทำเพื่อการค้า ปรับระหว่าง 100,000 - 800,000 บาท โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ

:: พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตราที่ 1-7 ::

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบัน

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
"ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
"วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
"โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใด ที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผล อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด
"นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือ การแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย
"ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือ หลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียว หรือหลายอย่าง
(2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตร ที่สัมผัสและจับต้องได้
(3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย
(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือ การสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
(5) งานภาพถ่าย ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือ บันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการ อย่างอื่น
(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์ รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์
(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่า ของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้ หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
"ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลง หรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึง โน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
"โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึก ลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือ ที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี
"ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออก ฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี
"สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ อันสามารถที่จะ นำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความ รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
"นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่ง แสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด
"งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดย การแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์หรือ โดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน
"ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับ ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนา โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
"ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรมหรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่
(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึง ทำซ้ำ โดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่
(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฏกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่มิใช่ นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฏกรรม ทั้งนี้ ไม่ว่า ในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน
(4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่เป็น รูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ
(5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับเรียบเรียง เสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่
"เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและ หรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น
"การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูป หรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนา จำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดงหรือการทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยายหรือการปาฐกถา ซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพ เกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดงและการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบ ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

ส่วนที่ 2 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
มาตรา 8 ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วย การคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ ในการสร้างสรรค์งานนั้น
(2) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้ กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอก ราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือ ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี อยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง แรงงานนั้น

มาตรา 10 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้ เป็นอย่างอื่น

มาตรา 11 งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัตินี้โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงาน ที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

มาตรา 12 งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มารวบรวมหรือประกอบเข้ากันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเป็นการนำเอา ข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่านหรือถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใด มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน หากผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันได้รวบรวมหรือ ประกอบเข้ากันซึ่งงานดังกล่าวขึ้นโดยการคัดเลือกหรือจัดลำดับในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียน งานของบุคคลอื่น ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รวบรวมหรือ ประกอบเข้ากันตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นใด ของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบ เข้ากัน

มาตรา 13 ให้นำ มาตรา 8 มาตรา 9 และ มาตรา 10 มาใช้บังคับ แก่การมีลิขสิทธิ์ตาม มาตรา 11 หรือ มาตรา 12 โดยอนุโลม

มาตรา 14 กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือ ของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือ ในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนที่ 3 การคุ้มครองลิขสิทธิ์
มาตรา 15 ภายใต้บังคับ มาตรา 9 มาตรา 10 และ มาตรา 14 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
(4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
(5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนด เงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัด การแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขัน โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 16 ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้อนุญาตให้ผู้ใด ใช้สิทธิตาม มาตรา 15 (5) ย่อมไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธินั้น ได้ด้วย เว้นแต่ในหนังสืออนุญาตได้ระบุเป็นข้อห้ามไว้

มาตรา 17 ลิขสิทธิ์นั้นย่อมโอนให้แก่กันได้
เจ้าของลิขสิทธิ์อาจโอนลิขสิทธิ์ของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลอื่นได้ และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็ได้
การโอนลิขสิทธิ์ตามวรรคสองซึ่งมิใช่ทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนด ระยะเวลาสิบปี

มาตรา 18 ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่า ตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ และเมื่อผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายทายาทของผู้สร้างสรรค์มี สิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่ จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร

ส่วนที่ 4 อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
มาตรา 19 ภายใต้บังคับ มาตรา 21 และ มาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของ ผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ ความตาย
ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณา งานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มี อายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 20 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดย ผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้ สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำ มาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 21 ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้ มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มี การโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 22 ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์ งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ ยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 23 ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่ง หรือในความควบคุมตาม มาตรา 14 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 24 การโฆษณางานตาม มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 หรือ มาตรา 23 อันเป็นการเริ่มนับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หมายความถึง การนำงานออกทำการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์

มาตรา 25 เมื่ออายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ครบกำหนดในปีใด ถ้าวันครบ กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน หรือในกรณีที่ไม่อาจทราบ วันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่แน่นอน ให้ลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันสิ้นปี ปฏิทินของปีนั้น

มาตรา 26 การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ออกทำการโฆษณาภายหลังจากที่ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์สิ้นสุดลงไม่ก่อให้เกิดลิขสิทธิ์ในงานนั้น ๆ ขึ้นใหม่

ส่วนที่ 5 การละเมิดลิขสิทธิ์
มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำ ดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

มาตรา 28 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำ ดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

มาตรา 29 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียง แพร่ภาพอันมี ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียก เก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า

มาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมี ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิด ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือ เสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US