นำมูลหนี้เดิมมาฟ้องล้มละลายใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

หนี้จำนวนเดียวกันเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะนำมาฟ้องให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้หรือไม่? ในคำพิพากษาฎีกาฉนับนี้ เจ้าหนี้นำมูลหนี้มาฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าลูกหนี้นำสืบได้ว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินจึงไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นต้ว ต่อมาลูกหนี้ได้จำหน่ายทรัพย์ดังกล่าวไปแล้ว และเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้เดิมมาฟ้องลูกหนี้หรือจำเลยเป็นคดีล้มละลายอีกครั้ง ดังนี้มีคำถามว่าอย่างนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่? ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะเจ้าหนี้อ้างเหตุว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553

คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายอ้างเหตุจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง มีราคามากกว่าหนี้ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์นำหนี้เดียวกันมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างเหตุจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และที่ดินในคดีก่อนจำเลยได้โอนขายไปแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แม้มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะเป็นหนี้เดียวกันและคดีมีประเด็นเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมคดีศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 13068/2540 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 4,246,561.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 3,342,330 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2540 กับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนหลังจากศาลมีคำพิพากษาจำเลยไม่ชำระหนี้ คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 6,929,143.65 บาท โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของจำเลยโดยยื่นคำขอตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่แล้วไม่พบว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่อย่างใด และจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 29046/2540 ซึ่งเป็นที่ดินจำนวน 8 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองและไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับจำนองในคดีดังกล่าว กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่1293/2547 ของศาลล้มละลายกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ 1293/2547 ของศาลล้มละลายกลาง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 13068/2540 รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 5,808,985.85 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้นอกจากนี้จำเลยถูกกรมสรรพากรยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 13440 ตำบลสามเสนใน(บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งติดจำนองสถาบันการเงินอื่นในวงเงิน 15,000,000 บาท จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่น ที่ดินจำนองดังกล่าวไม่พอชำระหนี้จำนอง หนี้ค่าภาษีอากรและหนี้โจทก์ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า จำเลยนำสืบได้ว่า จำเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 13440 มีราคามากกว่าหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์และหนี้จำนองรวมกัน กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว คดีถึงที่สุดแล้วส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งในคดีเดียวกันซึ่งคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,929,143.65 บาท โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ และจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีในคดีอื่น ซึ่งทรัพย์ที่ยึดเป็นทรัพย์ติดจำนองและไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โจทก์ผู้รับจำนอง ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย เห็นว่า แม้คดีหมายเลขแดงที่ 1293/2547 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้โจทก์จะนำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลในคดีเดียวกันมาฟ้องจำเลย และมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีหมายเลขแดงที่ 1293/2547 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้เป็นคนละเหตุกัน ประกอบกับทรัพย์จำนองที่จำเลยนำสืบและเป็นเหตุให้ศาลวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในคดีดังกล่าว จำเลยได้โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อชำระหนี้สถาบันการเงินอื่นไปแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างเหตุความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยโดยจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้และจำเลยถูกเจ้าหนี้อื่นยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นฟ้องโจทก์คดีนี้จึงมิได้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีหมายเลขแดงที่ 1293/2547 ของศาลล้มละลายกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1293/2547 ของศาลล้มละลายกลาง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยจึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบโดยส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า จำเลยประกอบกิจการเป็นเจ้าของร้านที่นอนรุ่งโรจน์ผลิตที่นอนฟองน้ำจำหน่าย มีรายได้เดือนละประมาณ 200,000 ถึง 300,000 บาท และเคยมีรายได้สูงสุดประมาณ 900,000 ถึง 1,200,000 บาท สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้นั้น เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงคำกล่าวอ้างเลื่อนลอยมีน้ำหนักน้อยโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงประกอบสนับสนุนให้น่าเชื่อถือ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง กรณีไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และนับแต่ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาจำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย จึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
( ณรงค์พล ทองจีน - สมศักดิ์ จันทรา - พิชัย อภิชาตอำมฤต )
ศาลล้มละลายกลาง - นายกฤษฏิ์ภีมพศ ตีระรัตน์
________________________________________________
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US