ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

ความผิดฐานเบิกความเท็จต้องเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกดังนั้นประเด็นในคดีมีว่าจำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามหรือไม่ ส่วนที่ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดนั้น ไม่ใช่ประเด็นในคดี ดังนั้น แม้จำเลยจะเบิกความหรือแสดงหลักฐานว่าบ้านเป็นของผู้ตายซึ่งเป็นความเท็จ เพราะขณะจำเลยเบิกความ ผู้ตายไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังนี้ แต่ผู้ที่เจ้าของคือโจทก์ร่วมก็ตาม คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2544

คดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตายมีประเด็นว่า จำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่น คำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หรือไม่ กับจำเลยเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1728 หรือไม่ส่วนข้อที่ว่า ม. มีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ไม่ใช่ประเด็นในคดีดังกล่าว การที่จำเลยเบิกความเท็จว่า บ้านเป็นของ ม. จึงมิใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 5008/2539 โดยจำเลยเบิกความว่าจำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมานพ และนางอำไพวรรณ ซึ่งมีบุตร 3 คน บิดาและมารดาของนายมานพถึงแก่กรรมนานแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2522 นายมานพถึงแก่กรรมด้วยโรคความดันโลหิตสูงก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่มีทรัพย์มรดก คือ บ้านเลขที่ 511/83แขวงบางพลัด เขตบางพลัด (ที่ถูกเป็นเขตบางกอกน้อย) กรุงเทพมหานครคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดี เพราะขณะจำเลยเบิกความ นายมานพไม่ใช่เจ้าของบ้านเลขที่ 511/83 แต่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คือ นายปริญญา ซึ่งซื้อบ้านดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2531 ศาลแพ่งธนบุรีเชื่อคำเบิกความเท็จของจำเลยจึงมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายบ้านดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นเป็นเหตุให้นายปริญญาได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายปริญญา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคแรก จำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรนายมานพ และนางอำไพวรรณ เมื่อวันที่ 18ตุลาคม 2528 สำนักงานสรรพากร กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศว่าจะทำการขายทอดตลาดบ้านเลขที่ 511/83 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัดเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของนางอำไพวรรณในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพวรรณก่อสร้างผู้ค้างภาษีอากรโดยจะขายทอดตลาดเฉพาะตัวบ้านเลขที่ 511/83 เนื่องจากปลูกในที่ดินธรณีสงฆ์วัดอาวุธวิกสิตตาราม ผู้ใดซื้อได้ให้รื้อไปหรือติดต่อกับวัดในที่สุดโจทก์ร่วมประมูลซื้อได้ และได้ทำสัญญาซื้อขายกันที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 ตามหนังสือสัญญาขายบ้านเอกสารหมาย จ.2 ก่อนและหลังจากการขายทอดตลาดจำเลยได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 511/83 มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 11เมษายน 2539 จำเลยทำสัญญาจะขายบ้านเลขที่ 511/83 ให้แก่นางสาวเพ็ญณี ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 19กันยายน 2539 จำเลยเบิกความต่อศาลแพ่งธนบุรีในคดีหมายเลขดำที่ 4836/2539 ที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพผู้ตายว่านายมานพบิดาจำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2522 ก่อนถึงแก่กรรมนายมานพเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 511/83 ตามสำเนาคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.4 ในที่สุดศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพ ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 5008/2539 ของศาลแพ่งธนบุรีเอกสารหมาย จ.5 หลังจากนั้นจำเลยนำสำเนาคำสั่งดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกอกน้อยเพื่อโอนขายบ้านเลขที่ 511/83 ให้แก่นางสาวเพ็ญมณี โจทก์ร่วมทราบเรื่องจึงไปคัดค้าน ทำให้จำเลยไม่สามารถโอนขายบ้านดังกล่าวได้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่าในคดีหมายเลขดำที่ 4836/2539คดีหมายเลขแดงที่ 5008/2539 ของศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งจำเลยเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายมานพผู้ตาย ประเด็นในคดีมีว่าจำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลและมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หรือไม่ส่วนที่ว่านายมานพเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดนั้น ไม่ใช่ประเด็นในคดีดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยจะเบิกความหรือแสดงหลักฐานว่าบ้านเลขที่ 511/83 เป็นของนายมานพผู้ตายซึ่งเป็นความเท็จ เพราะขณะจำเลยเบิกความ นายมานพไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังนี้ แต่ผู้ที่เจ้าของคือโจทก์ร่วมก็ตาม คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

( ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - มงคล คุปต์กาญจนากุล - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย )

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US