คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน | เป็นที่สุด

คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจจำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่ง จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6076 - 6077/2549

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คดีมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหรือไม่และจำเลยได้จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วหรือไม่เท่านั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานและหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจจำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่งระบุความเกี่ยวพันกับจำเลยว่าเป็นพนักงานจำเลย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่งแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา 124 วรรคสาม เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่งเท่านั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี
ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน
ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้
มาตรา 124 เมื่อมีการยื่นคำร้องตาม มาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้อง
ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตามวรรค 1 ได้ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผลและอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดตามวรรคหนึ่ง
เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฎว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรม ของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง
ให้นายจ้างจ่ายเงินตามวรรคสามให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ณ สถานที่ทำงาน ของลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายร้องขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าว ณ สำนักงานของพนักงานตรวจแรงงานหรือสถานที่อื่นตามที่นายจ้างและลูกจ้างหรือ ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายตกลงกัน
ในกรณีที่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่มารับเงินดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง ให้พนักงานตรวจแรงงานนำส่งเงินนั้นเพื่อเก็บรักษาในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยฝากไว้กับธนาคารในการนี้ ถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใด เกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงินให้ตกเป็นสิทธิแก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายซึ่งมีสิทธิได้รับเงินนั้น
ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้ รับเงินตาม มาตรา 123 ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง และแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายทราบ

มาตรา 125 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตาม มาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมขอ ลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
ในกรณีที่นายจ้างลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
ในกรณที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลนายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้นจึงจะฟ้องคดีได้
เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายได้
มาตรา 143 ในการส่งคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือพนักงานตรวจแรงงานจะนำไปส่งเองหรือให้เจ้าหน้าที่นำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของนายจ้างในเวลาทำการของนายจ้างถ้าไม่พบนายจ้าง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของนายจ้างหรือพบนายจ้างแต่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมรับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ ปรากฎว่า เป็นของนายจ้างนั้นก็ได้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วให้ถือว่านายจ้างได้รับคำสั่งหรือ หนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานนั้นแล้ว
ถ้าการส่งตามวรรคหนึ่งไม่สามารถกระทำได้ให้ส่งโดยปิดคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานในที่ซึ่ง เห็นได้ง่าย ณ สำนักงานของนายจ้าง สถานที่ทำงานของลูกจ้าง ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของนายจ้าง เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวและเวลาได้ล่วงพ้นไปไม่น้อยกว่าสิบห้าวันแล้วให้ถือว่านายจ้างได้รับคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานนั้น แล้ว

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมา ใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 224 หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่

...(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้นเมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้...

มาตรา 246 เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีใน ศาลชั้นต้นนั้นให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US