ผู้จัดการมรดก | ฟ้องแทนทายาทโดยธรรมอื่น

การฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกถือว่ากระทำการแทนทายาทอื่นผู้มีสิทธิทั้งหมด ซึ่งการฟ้องดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และการฟ้องคดีก็เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในกรณีนี้ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7377/2549

โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และเป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นทายาทขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่ ส่วนกองมรดกได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของโจทก์เพียงใด ผู้ร้องสอดก็สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1720 แห่ง ป.พ.พ. ได้อยู่แล้ว กรณียังไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางปุก ผู้ตายตามคำสั่งศาล โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 16 สารบบเล่ม 20 หน้า 76 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา โดยโจทก์ก็มีสิทธิครอบครอง 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา จำเลยเป็นผู้ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมกันรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามส่วนที่จะได้รับ แต่เมื่อถึงวันนัดรังวัด จำเลยไม่ยอมไปดำเนินการ เพราะตกลงแนวเขตที่จะแบ่งแยกไม่ได้ จึงไม่สามารถนำเจ้าพนักงานไปรังวัดแบ่งแยกได้ โจทก์จึงยกเลิกการขอรังวัด ต่อมาโจทก์ติดต่อให้จำเลยไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินตามส่วนใหม่ แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินส่วนของโจทก์มาแบ่งให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 16 สารบบเล่ม 20 หน้า 76 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา ออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน และให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของที่ดินดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด

ระหว่างการพิจารณา ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ จำเลยถึงแก่ความตาย นางทองย้อย ชาวไร่นาค ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 97 1/10 ตารางวา เดิมนายแคล้ว ใจอดทน เจ้าของที่ดินพิพาทได้ขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเจ้าพนักงานได้รังวัดปักหลักเขตเสาหิน และการครอบครอง โดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตรับรองว่าถูกต้อง แต่นายแคล้วไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมตามระเบียบราชการ จึงทำให้เรื่องการออกโฉนดยุติไป ส่วนที่ระบุว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา เป็นการประมาณการเท่านั้น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 จำเลยกับโจทก์ได้ร่วมกันขอรังวัด และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาทและขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งส่วนให้แก่นางปุก ใจอดทน จำนวน 1 ใน 3 ส่วนตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานได้รังวัดที่ดินพิพาททั้งหมดโดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต รังวัดได้เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งานเศษ แต่โจทก์จะแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยเพียง 20 ไร่ ซึ่งไม่ถึง 2 ใน 3 ส่วน ตามคำพิพากษา หรือตามที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงไว้ที่สำนักงานที่ดิน จำเลยจึงไม่ยินยอมเพราะไม่ได้ส่วนแบ่งตามส่วน โจทก์จึงขอยกเลิกการรังวัดแบ่งแยกโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 97 1/10 ตารางวา แต่โจทก์มีเจตนาจะฟ้องให้แบ่งส่วนให้จำเลยเพียง 17 ไร่ 2 ตารางวา จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์และจำเลยได้ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว โดยตกลงกันว่าให้ที่ดินแยก 1 ด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 20 ไร่ และแปลงคงเหลือเป็นของจำเลย ส่วนโจทก์ให้ได้ที่ดินด้านทิศใต้ ตามรูปที่ดินท้ายคำให้การหมายเลข 2 หากโจทก์จะขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามที่ตกลงกัน จำเลยไม่คัดค้านแต่หากไม่อาจแบ่งกันได้ ก็ให้นำที่ดินพิพาททั้งหมดเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งานเศษ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้จำเลย 2 ใน 3 ส่วน ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ให้ร่วมกับจำเลยรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งแปลง และแบ่งแยกสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย 2 ใน 3 ส่วน จากเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 97 1/10 ตารางวา คิดเป็นเนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา หากโจทก์ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่อาจดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามส่วนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด แบ่งแก่จำเลย 2 ใน 3 ส่วน

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 49 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา นายแคล้ว ใจอดทน ได้แบ่งขายที่ดินให้ผู้อื่นไป 23 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ที่ดินพิพาทจึงมีเนื้อที่เหลือเพียง 25 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา นายแคล้วไม่เคยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยเคยตกลงกันไปขอรังวัดแบ่งที่ดินตามส่วนที่แต่ละฝ่ายจะได้รับ เมื่อถึงวันนัดรังวัดจำเลยไม่ไปดำเนินการ ที่ดินส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นเนื้อที่เพิ่มอยู่นอกที่ดินพิพาท และเป็นที่ดินของผู้อื่น ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรของนางปุก ใจอดทน ผู้ตาย และเป็นพี่สาวของโจทก์ ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องสอดมีความประสงค์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ร้องสอด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ถือว่าโจทก์กระทำการแทนผู้ร้องสอดแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วม ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีการวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่ ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนได้เสียในกองมรดกของนางปุกผู้ตาย มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ในการยื่นคำร้องโจทก์ก็ไม่คัดค้าน หากศาลชั้นต้นอนุญาต ผู้ร้องสอดสามารถใช้สิทธิรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกร่วมกับโจทก์ อันจะก่อให้เกิดผลดีแก่กองมรดกและทายาทมากกว่าโจทก์ดำเนินคดีไปเพียงคนเดียวนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และการฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวก็เป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในกรณีนี้ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่ กรณียังไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ ส่วนที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าจะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของกองมรดกนั้น เห็นว่า หากกองมรดกได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของโจทก์ ผู้ร้องสอดก็สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1720 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องสอดนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1720 ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อ ทายาทตามที่บัญญัติไว้ใมาตรา 809 ถึง 812, 819, 823 แห่งประมวลกฎหมายนี้ โดยอนุโลม และ เมื่อ เกี่ยวกับ บุคคลภายนอก ให้ใช้ มาตรา 831 บังคับ โดยอนุโลม

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US