พิพากษาเกินคำขอ | คำขอท้ายฟ้อง

พิพากษาเกินคำขอ | คำขอท้ายฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการรับผิดของนายจ้างที่มีต่อโจทก์และสิทธิของโจทก์ที่ควรจะได้รับโบนัส โดยไม่มีคำขอบังคับให้นายจ้างต้องรับผิดในเงินโบนัสต่อโจทก์ แม้คำฟ้องโจทก์บรรยายถึงสิทธิที่จะได้เงินเป็นจำนวนเท่าใด อันเป้นการแสดงโดยชัดถึงสภาพแห่งข้อหา แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้จ่ายเงินแก่โจทก์ในคำขอท้ายคำฟ้อง จึงไม่อาจพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสให้ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2548


คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเรื่องเงินโบนัส ได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้เงินจากจำเลยเป็นจำนวนเท่าใด อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ในคำขอท้ายคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดเป็นประเด็นว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์หรือไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ผิดหลงไปเท่านั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง หมายความว่า โจทก์จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้อะไรหรือกระทำการใด หรืองดเว้นกระทำการใด ก็ต้องบรรยายให้แจ้งชัดในคำขอบังคับท้ายคำฟ้องและพิสูจน์ให้เห็นตามคำขอบังคับนั้นเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับของศาลที่ออกตามคำพิพากษาได้อย่างถูกต้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลก็สามารถบังคับคดีได้

โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยยึดนามบัตรของลูกค้าประมาณ 2,000 แผ่น ที่ติดต่อกับโจทก์ไว้ และมีคำขอบังคับท้ายคำฟ้องขอให้จำเลยคืนนามบัตรประมาณ 2,000 แผ่นนั้นให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่านามบัตรที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนให้โจทก์นั้น เป็นนามบัตรของใครมีชื่ออะไรบ้าง ศาลย่อมไม่สามารถบังคับให้จำเลยคืนนามบัตรที่ถูกต้องให้แก่โจทก์ หากศาลพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ จำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ การที่ศาลแรงงานกลางไม่พิพากษาบังคับให้จำเลยคืนนามบัตรประมาณ 2,000 แผ่น ให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจการผลิตและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ต่าง ๆ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ครั้งสุดท้ายได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัท (ประจำประเทศไทย) และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยด้วย ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 92,931 บาท เงินทดแทนสำหรับรถยนต์ประจำตำแหน่งเดือนละ 15,000 บาท ค่าน้ำมันรถยนต์ เดือนละ 2,000 บาท ค่าผ่านทางด่วน เดือนละ 1,000 บาท ค่ารับรองลูกค้า เดือนละ 2,000 บาท รวมค่าจ้าง เดือนละ 112,931 บาท นอกจากนี้จำเลยตกลงจ่ายเงินรางวัลค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินโบนัสทุก 3 เดือนต่อครั้ง แต่จำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินรางวัลของเดือนกรกฎาคม 2545 คิดเฉลี่ยจากเงินที่จำเลยจ่ายครั้งสุดท้ายแล้วเป็นเงิน 90,437 บาท เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อ้างเหตุว่าโจทก์ติดต่อธุรกิจกับองค์กรของรัฐในทางไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นความเท็จเพื่อต้องการกลั่นแกล้งโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ปกติจำเลยจ่ายค่าจ้างทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 จึงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2545 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกรกฎาคม 2545 เต็มเดือน แต่จำเลยจ่ายเพียง 22 วัน จึงต้องจ่ายอีก 9 วัน คิดเป็นเงิน 33,879 บาท ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับเดือนสิงหาคม 2545 เป็นเงิน 112,931 บาท รวมสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2545 เป็นเงิน 146,810 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย จึงต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินสินจ้างที่ค้างชำระดังกล่าวทุก 7 วัน คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 212,874 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยกว่า 5 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน เป็นเงิน 667,586 บาท เงินโบนัส คิดเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2545 เป็นเงิน 90,437 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์ขอคิดมีกำหนด 10 ปี คิดเป็นเงิน 13,551,721 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชดใช้ทั้งสิ้น 14,432,180.50 บาท และจำเลยได้ยึดนามบัตรลูกค้าของโจทก์ไว้ประมาณ 2,000 แผ่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้ดำรงตำแหน่งเดิม ให้จ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนเช่นเดียวกับที่โจทก์เคยได้รับครั้งสุดท้าย มิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 13,551,720 บาท สินจ้างค้างชำระ 146,810 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วัน คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 66,064 บาท รวมเงินสินจ้างค้างชำระพร้อมด้วยเงินเพิ่มเป็นเงิน 212,874.50 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วัน ของจำนวนเงิน 146,810 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 667,586 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยคืนนามบัตรบุคคลต่าง ๆ ที่ติดต่อกับโจทก์ประมาณ 2,000 แผ่น

จำเลยให้การว่า สินจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ก่อนเลิกจ้างคือ 92,931 บาท จำเลยไม่ได้จัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้โจทก์สำหรับค่าน้ำมัน ค่าผ่านทางด่วนและค่ารับรองนั้น จำเลยจะชดใช้แก่โจทก์ตามที่จ่ายจริง โดยโจทก์ต้องแสดงหลักฐานการจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น รถยนต์ประจำตำแหน่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นสินจ้างตามกฎหมาย สำหรับเงินโบนัสมีสภาพเป็นสิ่งจูงใจ การจ่ายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว และเนื่องจากผลประกอบการและกำไรของจำเลยไม่ดีประกอบกับโจทก์ประพฤติผิด และโจทก์ถูกเลิกจ้างก่อนถึงกำหนดจ่ายในเดือนกันยายน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสสำหรับเดือนกรกฎาคม 2545 ทั้งจำนวนเงินโบนัสที่โจทก์คำนวณมาโดยการเฉลี่ย หากโจทก์ไม่ถูกเลิกจ้างก็ไม่อาจได้รับตามที่โจทก์ฟ้องเนื่องจากผลประกอบการในเดือนกรกฎาคมนั้นไม่ดี เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบสูงกว่าพนักงานโดยทั่วไป มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลและบริหารงานของจำเลยด้วยความระมัดระวังและป้องกันมิให้มีการกระทำผิดหรือกระทำอันไม่เหมาะสมเกิดขึ้นแต่โจทก์กลับมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือกระทำอันไม่เหมาะสมในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐในปี 2544 เกี่ยวกับงาน 2 โครงการ สำหรับโครงการที่ 1 โจทก์ได้ติดต่อหางานผ่านผู้จัดหางานซึ่งจะได้รับบำเหน็จจากการทำสัญญา ปรากฏว่าในการชำระเงินบำเหน็จโจทก์ได้ตกลงจ่ายให้แก่บุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อมีการจ่ายเงิน ได้มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ควรได้รับเงินดังกล่าวโดยชอบ สำหรับโครงการที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนร่วมหรือรู้เห็น แต่ไม่ป้องกันหรือรายงานต่อจำเลยในการกระทำที่ไม่เหมาะสมและอาจขัดต่อกฎหมายและนโยบายของจำเลยหลายประการ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยดำเนินการสอบสวนและให้โอกาสโจทก์เต็มที่ในการอธิบาย แต่ผลของการสอบสวนทำให้จำเลยเชื่อหรือมีเหตุควรเชื่อได้ว่า โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิด จำเลยจึงต้องเลิกจ้างโจทก์ โดยได้ส่งจดหมายบอกกล่าวเลิกจ้างลงนามโดยผู้มีอำนาจในวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดอกเบี้ย โบนัสสำหรับเดือนกรกฎาคม 2545 และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อีกทั้งนามบัตรที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องโจทก์ได้รับจากบุคคลภายนอกขณะทำงานให้จำเลยเป็นตัวแทนของจำเลย จึงเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 540,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 647,586 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เฉพาะของค่าชดเชยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไป และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 143,908 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลแรงงานกลางต้องพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ในคำขอบังคับท้ายฟ้องโจทก์จะไม่ขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องเรื่องเงินโบนัสและมีคำขอส่วนนี้มาในคำฟ้องโจทก์ข้อ 4.3 และในหน้า 7 บรรทัดที่ 2 นับจากข้างล่างก็ได้กล่าวถึงจำนวนเงินโบนัสที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ และในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 เรื่องเงินโบนัสไว้ด้วย ศาลแรงงานกลางจึงต้องพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสตามประเด็นข้อพิพาทให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีคำขอในคำฟ้องข้อ 4.3 และในหน้า 7 บรรทัดที่ 2 นับจากข้างล่าง และศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นเรื่องเงินโบนัสไว้นั้น ปรากฏว่าคำฟ้องโจทก์ ข้อ 4.3 และคำบรรยายฟ้องในหน้า 7 ดังกล่าวเป็นเพียงการบรรยายถึงการรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์และสิทธิของโจทก์ที่ควรจะได้รับ โดยไม่มีคำขอบังคับให้จำเลยต้องรับผิดในเงินโบนัสต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น" มาตรา 142 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อแต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง" เห็นว่า แม้คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเรื่องเงินโบนัสโจทก์ได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ที่จะได้เงินจากจำเลยเป็นจำนวนเท่าใด อันเป้นการแสดงโดยชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ในคำขอท้ายคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง คดีนี้แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดเป็นประเด็นข้อ 4 ว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม การกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ผิดหลงไปเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางไม่พิพากษาบังคับให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าศาลแรงงานกลางต้องพิพากษาให้จำเลยคืนนามบัตรของลูกค้าที่โจทก์ติดต่อประมาณ 2,000 กว่าแผ่นให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นามบัตรของลูกค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ จึงต้องพิพากษาให้จำเลยคืนนามบัตรเหล่านั้นให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ?คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ?? หมายความว่า โจทก์จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้อะไร หรือกระทำการใด หรืองดเว้นกระทำการใด ก็ต้องบรรยายให้แจ้งชัดในคำขอบังคับท้ายคำฟ้องและพิสูจน์ให้เห็นตามคำขอบังคับนั้น เพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับของศาลที่ออกตามคำพิพากษาได้อย่างถูกต้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลก็สามารถบังคับคดีได้ คดีนี้แม้โจทก์จะได้บรรยายว่า จำเลยยึดนามบัตรของลูกค้าประมาณ 2,000 แผ่น ที่ติดต่อกับโจทก์ไว้ และมีคำขอบังคับท้ายคำฟ้องขอให้จำเลยคืนนามบัตรประมาณ 2,000 แผ่นนั้น ให้แก่โจทก์ แต่ศาลแรงงานกลางรับข้อเท็จจริงว่า นามบัตรของลูกค้าที่โจทก์ติดต่อมีประมาณ 2,000 กว่าแผ่น แต่ไม่ทราบว่านามบัตรเหล่านั้นมีชื่ออะไรบ้าง และนางรุ่งระวีไม่ยอมให้โจทก์นำนามบัตรเหล่านั้นออกไป เห็นว่า โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่านามบัตรที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนให้โจทก์นั้น เป็นนามบัตรของใครบ้าง ศาลย่อมไม่สามารถบังคับให้จำเลยคืนนามบัตรที่ถูกต้องให้แก่โจทก์ หากศาลพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ จำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ การที่ศาลแรงงานกลางไม่พิพากษาบังคับให้จำเลยคืนนามบัตรประมาณ 2,000 แผ่น ให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น?
พิพากษายืน

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US