ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

การบรรยายคำฟ้องที่มิได้ระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาใด และมิได้บรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดเป็นการแน่นอน แต่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่จำเลยกระทำความผิดและรายละเอียดอื่นเกี่ยวกับเวลาและสถานที่พอที่จำเลยเข้าใจข้อหาแล้วนั้นไม่ถือว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541 - 3542/2550

คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดเป็นวันเวลาใด และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดที่ใด โดยโจทก์หาต้องบรรยายระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน และหาต้องบรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดที่แน่นอนในกรุงเทพมหานคร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมาย

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในข้อ 1 ว่า "เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุ 12 ปีเศษ (เกิดวันที่ 27 ตุลาคม 2532) ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี และมิใช่ภริยาของจำเลย โดยเด็กหญิง ส. ยินยอม เหตุเกิดที่แขวงใดเขตใดไม่ปรากฏชัด ในกรุงเทพมหานคร" คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดเป็นวันเวลาใด และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดที่ใด โดยโจทก์หาต้องบรรยายระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน และหาต้องบรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดที่แน่นอนในกรุงเทพมหานคร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคล ที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานไว้ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า เช่น อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย หรือมีเหตุจูงใจบางอย่างที่จะทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานในภายหน้าได้ เป็นต้น การสืบพยานดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง และคดีนี้ปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล พนักงานอัยการได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 3 ไม่มาศาลและไม่แต่งตั้งทนายความ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะถามค้านผู้เสียหาย การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย

คดีสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4531/2545 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสองสำนวนนี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 279, 282, 283, 312 ตรี, 317 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 796/2545 ของศาลอาญาธนบุรี

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม, 317 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83, 90, 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม และวรรคสี่ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 279 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 91 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กรวมทั้งป้องปรามมิให้มีการล่อลวงเด็กไปทำการค้าประเวณี เห็นควรลงโทษสถานหนัก กำหนดโทษจำเลยที่ 1 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม และวรรคสี่ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5,7 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 15 ปี จำนวน 16 กระทง เป็นจำคุก 240 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จำคุก 2 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุกกระทงละ 8 ปี จำนวน 2 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 18 ปี คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม, 317 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83, 90, 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 279 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ฐานเป็นธุระจัดหาหญิงเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 15 ปี จำนวน 16 กระทง เป็นจำคุก 240 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุกฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี มีกำหนด 4 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเด็กหญิง ส. ผู้เสียหาย เกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532 เป็นบุตร ช. กับ ว. ตามสำเนาสูติบัตร ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายอายุ 12 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับ พ. เพื่อเรียนหนังสือ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ว. และ พ. มารดา ผู้ปกครองและผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร และเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นธุระจัดหาชักพาผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและเพื่อทำการค้าประเวณีโดยผู้เสียหายยอมให้บุคคลหลายคนกระทำชำเรา จำเลยที่ 1 กับพวกได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนจากบุคคลดังกล่าว อันเป็นการสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็ก ทั้งนี้ เพื่อแสวงหารายได้จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายอยู่บ้านจำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรหรือบี แซ่ตั้ง พาผู้เสียหายไปพบจ่าหวังหรือจำเลยที่ 2 ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านจำเลยที่ 1 วันดังกล่าวจำเลยที่ 2 แต่งเครื่องแบบตำรวจ ผู้เสียหายทราบว่าจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม จำเลยที่ 2 มอบเงินให้แก่นางสาวอุมาพร นางสาวอุมาพรแยกตัวกลับไป จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปที่โรงแรมธนบุรีโฮเต็ล และให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ ผู้เสียหายอาบน้ำเสร็จแล้วได้นุ่งผ้าขนหนูออกจากห้องน้ำ จำเลยที่ 2 เข้าไปอาบน้ำ เมื่อจำเลยที่ 2 ออกจากห้องน้ำก็ถอดผ้าขนหนูของผู้เสียหายออกแล้วให้ผู้เสียหายนอนบนเตียง จำเลยที่ 2 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง แล้วแต่งเครื่องแบบตำรวจพาผู้เสียหายนั่งรถยนต์เก๋งของจำเลยที่ 2 ออกจากโรงแรมไปส่งที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นผู้เสียหายกลับไปที่บ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบเงินให้ผู้เสียหาย 800 หรือ 1,000 บาท ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวัน ผู้เสียหายอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลานานพอสมควร ย่อมจำรูปร่างลักษณะของจำเลยที่ 2 ได้ ทั้งในชั้นสอบสวนผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งว่า “พบชายชื่อหวังแต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งหนูไม่ทราบยศตำแหน่ง ซึ่งชายคนชื่อหวังได้บอกกับหนูว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ สน.บุปผาราม” และผู้เสียหายได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดของการร่วมเพศกับจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจับกุม ผู้เสียหายได้ไปชี้ตัวจำเลยที่ 2 ที่กองปราบปราม ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 คือ นายหวัง ไม่ทราบนามสกุล ที่กระทำชำเราตนตามที่ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน และผู้เสียหายได้ไปชี้โรงแรมธนบุรีโฮเต็ลว่าเป็นโรงแรมที่จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปกระทำชำเรา ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องได้รับโทษโดยปราศจากมูลความจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความสัตย์จริงที่ได้พบเห็นมา ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้เสียหายให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีที่โรงแรมโรสอินทร์ หรือโรงแรมธนบุรี แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ตอนหนึ่งว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะพาผู้เสียหายไปโรงแรมธนบุรีนั้น ผู้เสียหายเคยไปร่วมประเวณีกับนายจิ๋วที่โรงแรมดังกล่าวมาก่อน หากจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีที่โรงแรมดังกล่าวจริงผู้เสียหายก็น่าจะให้การยืนยันสถานที่เกิดเหตุได้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนแล้วเพราะเป็นระยะเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่อ้างว่าไปร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจดจำไม่ได้ว่าไปร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 ณ สถานที่ใดนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 พาไปให้ผู้อื่นร่วมประเวณีเกือบทุกวันและไปโรงแรมหลายแห่ง ประกอบกับวันไปชี้สถานที่เกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้พาผู้เสียหายไปชี้สถานที่หลายแห่งอาจจะทำให้ผู้เสียหายจำสับสนไปบ้างซึ่งก็ไม่เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด และในการชี้สถานที่เกิดเหตุครั้งต่อมาผู้เสียหายยืนยันว่าโรงแรมที่จำเลยที่ 2 พาไปร่วมประเวณีคือโรงแรมธนบุรีโฮเต็ล ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในการชี้ตัวจำเลยที่ 2 กระทำหลังจากเกิดเหตุ 45 วัน วันที่ผู้เสียหายชี้ตัว จำเลยที่ 2 มิได้สวมเสื้อผ้าคล้ายคลึงกับเวลาเกิดเหตุแต่สวมเสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนสีฟ้า ซึ่งแตกต่างจากบุคคลอื่น ทั้งการชี้ตัวจำเลยที่ 2 กระทำหลังจากเกิดเหตุถึง 45 วัน จึงเชื่อว่าผู้เสียหายจะต้องเห็นภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ก่อนทำการชี้ตัวเพราะพันตำรวจโทอารี สินธุรา เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า หลังจากผู้เสียหายให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้วทางกองปราบปรามมีหนังสือขอให้สถานีตำรวจนครบาลบุปผารามส่งภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 มาให้ ผู้เสียหายเห็นภาพถ่ายดังกล่าวในขณะชี้ภาพการชี้ตัวจำเลยที่ 2 จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดจากความทรงจำของผู้เสียหายอย่างแท้จริงนั้น เห็นว่า หลังจากผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า “พบชายชื่อหวังแต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งหนูไม่ทราบยศตำแหน่ง ซึ่งชายคนชื่อหวังได้บอกกับหนูว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ สน.บุปผาราม” เพียง 3 วัน พันตำรวจเอกวินัย ทองสอง รองผู้บังคับการกองปราบปราม หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงมีหนังสือไปขอภาพถ่ายข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบุปผารามที่มีชื่อเล่นว่า “หวัง” มาเพื่อประกอบการสืบสวนสอบสวน เมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัว ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับนายหวังที่กระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งพันตำรวจโทวิโรจน์ จันทร์หอม พนักงานสอบสวน และ ว. มารดาผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านยืนยันว่า ผู้เสียหายไม่ได้ดูภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 ก่อนที่จะให้ผู้เสียหายทำการชี้ตัวจำเลยที่ 2 และเมื่อพิจารณาภาพถ่าย ภาพที่ 1 และภาพที่ 4 จำเลยที่ 2 จะยืนเข้าแถวปะปนกับบุคคลอื่นอีก 5 คน ทุกคนสวมเสื้อยึดคอกลมสีขาวที่พนักงานสอบสวนจัดไว้ให้ ส่วนกางเกงที่สวมใส่สีไม่เหมือนกัน มีทั้งกางเกงยีนสีน้ำเงิน กางเกงสีดำและกางเกงสีกากี การที่ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้องเชื่อว่าผู้เสียหายจดจำจำเลยที่ 2 ได้ และการชี้ตัวดังกล่าวพนักงานสอบสวนปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการชี้ตัวผู้ต้องหาแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดวันใดและกระทำชำเราผู้เสียหายกี่ครั้ง ทั้งโจทก์ไม่ได้ระบุสถานที่เกิดเหตุว่าอยู่ที่ใด แขวงใด เขตใด อันเป็นสาระสำคัญแห่งการกระทำความผิดทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถเข้าใจคำฟ้องได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในข้อ 1 ว่า “เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยงวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุ 12 ปีเศษ (เกิดวันที่ 27 ตุลาคม 2532) ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี และมิใช่ภริยาของจำเลย โดยเด็กหญิง ส. ยินยอม เหตุเกิดที่แขวงใดเขตใดไม่ปรากฏชัด ในกรุงเทพมหานคร” คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีว่าเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดเป็นวันเวลาใด และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดที่ใด โดยโจทก์หาต้องบรรยายระบุวัน เวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องเป็นวันที่เท่าใด เดือนใด เวลาอะไรที่แน่นอน และหาต้องบรรยายระบุเหตุเกิดที่แขวงใด เขตใดที่แน่นอนในกรุงเทพมหานคร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นข้อปลีกย่อย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากที่ผู้เสียหายร่วมประเวณีกับนายเชาว์แล้วได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นนางสาวอุมาพรหรือบีติดต่อผู้เสียหายให้ไปร่วมประเวณีกับอาศักดาหรือจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรและนางสาวปรียาหรือจอยพาผู้เสียหายไปที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ชั้น 3 ของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ครั้งแรกจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ มีคนบอกว่าจำเลยที่ 3 กำลังรับประทานอาหาร สักครู่จำเลยที่ 3 แต่งเครื่องแบบตำรวจมาที่ห้องทำงาน นางสาวอุมาพรและนางสาวปรียาไหว้จำเลยที่ 3 แล้วเดินตามเข้าไปในห้องทำงาน ผู้เสียหายเดินตามเข้าไปด้วย จำเลยที่ 3 เรียกนางสาวอุมาพรไปพูดคุยที่โต๊ะทำงาน ส่วนผู้เสียหายและนางสาวปรียานั่งอยู่ที่โซฟาภายในห้องทำงาน ต่อมาจำเลยที่ 3 เรียกผู้เสียหายเข้าไปพูดคุยและสอบถามว่าเรียนอยู่ที่ไหน อายุเท่าไร ผู้เสียหายบอกว่าเรียนอยู่ที่โรงเรียน ศ. ชั้นประถมปีที่ 5 อายุ 12 ปี จากนั้นจำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรและนางสาวปรียาออกไปนอกห้อง แล้วลุกจากโต๊ะทำงานเข้ามากอดผู้เสียหายและพาไปนั่งที่โซฟาถอดเสื้อยกทรงผู้เสียหายออก จำเลยที่ 3 จูบหน้าอกผู้เสียหาย นางสาวอุมาพรเคาะประตูห้อง จำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายรีบใส่เสื้อยกทรง เมื่อผู้เสียหายแต่งตัวเรียบร้อย จำเลยที่ 3 เปิดประตูให้นางสาวอุมาพรเข้ามาในห้อง จำเลยที่ 3 บอกผู้เสียหายว่าไม่ให้บอกนางสาวอุมาพรว่าจำเลยที่ 3 ทำอะไรผู้เสียหาย นางสาวอุมาพรถามจำเลยที่ 3 ว่า “ว่างหรือไม่ เด็กอยากไปเที่ยวกับอาศักดา” ผู้เสียหายบอกว่า “ไม่ไป” จำเลยที่ 3 จึงพูดว่า “ถ้าเด็กไม่ไป ก็ไม่ต้องให้เด็กไป เพราะอาศักดาไม่ว่าง” จำเลยที่ 3 ให้เงินนางสาวอุมาพรและผู้เสียหายคนละ 500 บาท ผู้เสียหาย นางสาวอุมาพร นางสาวปรียาและจำเลยที่ 1 จึงกลับมาที่บ้านจำเลยที่ 1 ต่อมาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เวลาประมาณ 18 ถึง 19 นาฬิกา นางสาวอุมาพรและผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 3 ที่ห้องทำงานสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี วันดังกล่าวจำเลยที่ 3 แต่งเครื่องแบบตำรวจ นางสาวอุมาพรถามจำเลยที่ 3 ว่า “วันนี้อาศักดาว่างหรือไม่” ผู้เสียหายพร้อมที่จะไปกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 หันมาถามผู้เสียหายว่า “พร้อมจริงหรือ” นางสาวอุมาพรหยิกขาผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงบอกจำเลยที่ 3 ว่าพร้อมจำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรไปรออยู่ที่ป้ายรถโดยสารประจำทางใกล้สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี สักครู่จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะสีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมารับผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรไปที่โรงแรมเพนท์เฮาส์ ถนนสุขุมวิท ก่อนถึงโรงแรม จำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรไปซื้อวาสลินที่ร้านขายยาเมื่อถึงโรงแรมจำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ ผู้เสียหายอาบน้ำเสร็จ จำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรเข้าไปในห้องน้ำ ขณะที่ผู้เสียหายออกมาจากห้องน้ำเห็นจำเลยที่ 3 ใช้วาสลินทาอวัยวะเพศ จำเลยที่ 3 ขึ้นไปยืนบนเตียงย่อเข่าแล้วอุ้มผู้เสียหายขึ้นไปนั่งบนหน้าขาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 หมุนตัวผู้เสียหาย 2 ถึง 3 รอบ แล้วร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย แต่ไม่สำเร็จความใคร่ เนื่องจากผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 3 ว่าเจ็บ จำเลยที่ 3 จึงหยุดแล้วสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ขณะจำเลยที่ 3 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย อวัยวะเพศของจำเลยที่ 3 เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้นางสาวอุมาพร 3,000 บาท และพาผู้เสียหายกับนางสาวอุมาพรมาส่งที่ป้ายรถโดยสารประจำทางที่รับมา ผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรกลับมาที่บ้านจำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรมอบเงินที่รับมาจากจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แบ่งเงินให้ผู้เสียหาย 1,000 บาท หลังจากนั้นเกือบ 2 สัปดาห์ เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 นางสาวอุมาพรและนางสาวอ้อพาผู้เสียหายไปที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 นางสาวอุมาพรถามจำเลยที่ 3 ว่าว่างหรือไม่ ผู้เสียหายจะไปกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 บอกว่าว่าง และให้ไปรอที่ป้ายรถโดยสารประจำทางข้างสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะคันเดิมมารับผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรไปที่โรงแรมเพนท์เฮาท์ จำเลยที่ 3 ให้ผู้เสียหายไปอาบน้ำ เมื่อผู้เสียหายอาบน้ำเสร็จ จำเลยที่ 3 ให้นางสาวอุมาพรเข้าไปรออยู่ในห้องน้ำ จำเลยที่ 3 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ครั้งหลังนี้ผู้เสียหายไม่รู้สึกเจ็บเหมือนครั้งแรก จำเลยที่ 3 จ่ายเงินให้ผู้เสียหาย 1,000 บาท โดยบอกว่าเอาไปก่อนครั้งหลังจะเพิ่มให้ จากนั้นจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์กระบะไปส่งผู้เสียหายและนางสาวอุมาพรที่ป้ายรถโดยสารประจำทางที่เดิม ผู้เสียหายมอบเงินที่รับจากจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบเงินให้ผู้เสียหาย 500 บาท แต่ผู้เสียหายกลับมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ว่า ผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 มาก่อนเรื่องที่ผู้เสียหายกับเพื่อนไปเที่ยวที่สวนลุมพินี จำเลยที่ 3 ด่าผู้เสียหายกับเพื่อนว่า “พวกมึงเป็นกะหรี่ ไปหากินแถวอื่น อย่ามาหากินแถวนี้” และเมื่อผู้เสียหายท้องเสียไปเข้าห้องน้ำที่ชั้น 3 ของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลยที่ 3 มาพบ จึงด่าผู้เสียหายว่า “อีกะหรี่ไปหากินที่อื่น อย่ามาหากินที่นี่ ที่นี่เป็นโรงพัก” สาเหตุดังกล่าวปรากฏในเอกสารที่ผู้เสียหายเขียนด้วยลายมือของตนเอง ผู้เสียหายเขียนเอกสารดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ไม่มีผู้ใดบังคับข่มขู่โดยมีมารดาผู้เสียหายลงลายมือชื่อรับรอง จำเลยที่ 3 ไม่เคยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหาย เห็นว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์มีรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่พบจำเลยที่ 3 ครั้งแรกและไปร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 3 ที่โรงแรมเพนท์เฮาส์ ถ้าหากไม่เป็นความจริงก็ยากที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็ก แม้จะผ่านการร่วมประเวณีกับชายอื่นมาหลายคนจะปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 3 ได้ และเมื่อจำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ได้มีการจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 3 ผู้เสียหายสามารถชี้ตัวจำเลยที่ 3 ได้ถูกต้อง ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และภาพถ่าย อีกทั้งผู้เสียหายสามารถชี้สถานที่เกิดเหตุตั้งแต่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ทางเข้าไปพบจำเลยที่ 3 ห้องทำงานของจำเลยที่ 3 รถยนต์กระบะสีขาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จำเลยที่ 3 ขับไปรับผู้เสียหาย และโรงแรมกับห้องที่จำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีได้อย่างถูกต้องตามภาพถ่าย (14 ภาพ) คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งในชั้นสอบสวนกองปราบปรามและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเนื่องจากเป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจกับมีข้าราชการตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตามคำสั่งกองปราบปรามและสำเนาคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในการสอบคำให้การของผู้เสียหายได้กระทำต่อหน้าบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอ มารดาผู้เสียหาย นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนซึ่งผู้เสียหายให้การหลังจากเกิดเหตุไม่นานย่อมจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองได้ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่พนักงานสอบสวนหรือคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่กองปราบปรามและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตั้งขึ้นมาจะกลั่นแกล้งหรือเสี้ยมสอนผู้เสียหายให้ให้การปรักปรำจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วยกัน การที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ในภายหลังว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยกระทำอนาจาร และกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายโกรธจำเลยที่ 3 ที่ด่าว่าผู้เสียหาย จึงแกล้งให้การปรักปรำจำเลยที่ 3 ต่อมาผู้เสียหายสำนึกผิดจึงมาเล่าความจริงให้บิดามารดาฟัง บิดามารดาผู้เสียหายบอกว่าอย่าไปใส่ความจำเลยที่ 3 จะเป็นบาป ผู้เสียหายจึงเขียนจดหมายด้วยตนเองนั้น น่าจะเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 3 เพื่อให้พ้นความผิด เพราะเมื่อ ว. มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ ทนายจำเลยที่ 3 ก็มิได้ถาม ว. เกี่ยวกับเรื่องข้อความในจดหมายว่าเป็นความจริงหรือไม่อย่างไร และ ว. ได้บอกผู้เสียหายว่าอย่าไปใส่ความจำเลยที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความในวันสืบพยานผู้ร้องก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 277 ทวิ เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 และรับฟังเป็นพยานลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การนำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะต้องนำสืบพยานไว้ทันทีก่อนมีการฟ้องคดีเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 3 ไม่เป็นธรรมและขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 3 จะต้องไปใช้สิทธิหรืออิทธิพลข่มขู่พยานของโจทก์ หรือก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงกับพยานของโจทก์ที่จะนำมาสืบพยานในชั้นศาล หรือกระทำประการอื่นใดตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาตามคำร้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคลที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า เช่น อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย หรือมีเหตุจูงใจบางอย่างที่จะทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานในภายหน้าได้ เป็นต้น ดังนั้น การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง และคดีนี้ปรากฏจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2545 ว่า ในวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ พนักงานอัยการได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 3 แจ้งต่อพนักงานอัยการว่ากำลังเดินทางมาศาล ศาลชั้นต้นรอจำเลยที่ 3 อยู่จนกระทั่งเวลา 13 นาฬิกา พนักงานอัยการแถลงต่อศาลว่าจำเลยที่ 3 แจ้งว่าป่วย ไม่สามารถมาศาลได้ พนักงานอัยการจึงนำผู้เสียหายเข้าสืบจนถึงเวลา 20.30 นาฬิกา จึงเห็นได้ว่าในการสืบพยานดังกล่าวพนักงานอัยการได้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 3 ไม่มาศาลและไม่แต่งตั้งทนายความ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะถามค้านผู้เสียหาย การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เป็นประจักษ์พยาน แต่ผู้เสียหายเบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอยทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพยานหลัฐานอื่นของโจทก์ล้วนเป็นพยานบอกเล่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้นั้น เห็นว่า การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเพียงปากเดียวมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 กระทำอนาจาร และกระทำชำเราผู้เสียหายโดยไม่มีพยานแวดล้อมอื่นมานำสืบสนับสนุนก็ตาม เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้นว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเป็นความจริงก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเรื่องความสำคัญผิดเกี่ยวกับเรื่องอายุของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างใหญ่โตกว่าเด็กอายุเพียงแค่ 12 ปี โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายพอที่จะทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจ จะถือว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนารู้สำนึกในการกระทำและรู้องค์ประกอบของความผิดนั้นย่อมไม่ได้ เรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายตอนหนึ่งว่า เมื่อนางสาวอุมาพร นางสาวปรียาและผู้เสียหายไปหาจำเลยที่ 3 ที่ห้องทำงาน จำเลยที่ 3 เรียกผู้เสียหายเข้าไปพูดคุยและสอบถามว่าเรียนอยู่ที่ไหน อายุเท่าไร ผู้เสียหายบอกว่าเรียนอยู่ที่โรงเรียน ศ. ชั้นประถมปีที่ 5 อายุ 12 ปี ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้ถามค้านผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องอายุของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายได้บอกถึงเรื่องอายุของผู้เสียหายแก่จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 3 จะอ้างเรื่ององค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นจากความผิดมิได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 3 อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเกี่ยวกับเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวไว้แล้วในฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุก 8 ปี และจำคุก 16 ปี ตามลำดับนั้น เห็นว่า หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของรูปคดี”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี และลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 14 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 14 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( ศุภชัย สมเจริญ - ศิริชัย จิระบุญศรี - ณรงค์ ธนะปกรณ์ )
ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม/นัดสืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US