ยาบ้า ยาเสพติดให้โทษ นำเข้า 22 เม็ด

ยาบ้า ยาเสพติดให้โทษ นำเข้า 22 เม็ด โทษประหารชีวิต รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง จำคุก 25 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2550

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 22 เม็ด ตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม คำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้องข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราช อาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็น การนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามา ในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อ จำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) แล้ว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวเชื้อชาติกัมพูชา สัญชาติกัมพูชา เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนดไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ และไม่มีหนังสือเดินทางอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งนำเมทแอมเฟตามีนซึ่งป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 22 เม็ด น้ำหนัก 2.10 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.50 กรัม จากราชอาณาจักรกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักร กับมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และนำหรือพารถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ 100 สีแดงดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน หมายเลขตัวรถ เอ็นเอฟ 100 ดี-0037061 อันมีถิ่นกำเนิดหรือผลิตในราชอาณาจักรและยังไม่ได้ผ่านพิธีศุลกากรโดยถูก ต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ประเมินราคารถจักรยานยนต์ดังกล่าวแล้วเป็นเงิน 12,000 บาท ออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านด่านศุลกากรให้ถูกต้อง เหตุเกิดที่ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวและถุงพลาสติก ที่จำเลยใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีน เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 18, 62 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติกของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรและมีเมทแอ มเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปฏิเสธข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหานำสิ่งของต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานนำเข้า เมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติกของกลาง ข้ออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 65 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 5,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 2,500,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ทั้งนี้ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานนำสิ่งของต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนของความผิดดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายไว้แจ้งชัดแล้วว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ใน ครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ศาลลงโทษในความผิดดังกล่าวด้วย ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราช อาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ตามคำฟ้อง ข้อ 1 ข บรรยายฟ้องว่า “จำเลยได้บังอาจนำเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีนและเป็นอนุพันธ์เมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ จำนวน 22 เม็ด เข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” และคำฟ้องข้อ 1 ค บรรยายฟ้องว่า “จำเลยบังอาจมีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีนและเป็นอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ข จำนวน 22 เม็ด ซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ข ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” จะเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 22 เม็ด เข้ามาในราชอาณาจักรตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม คำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้อง ข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราช อาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็น การนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามา ในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายไว้แล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อ จำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดเพียง ฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานนำเข้า ซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.
( พันวะสา บัวทอง - พินิจ บุญชัด - สมศักดิ์ ตันติภิรมย์ )

ประมววลกฎหมายอาญา
มาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฏหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้ กระทำความผิด
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
มาตรา 4 “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
(1) ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
(2) ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium)
(3) ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(4) ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride)
(5) ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม
ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 8 (1)
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า ฝิ่นยา (Medicinal Opium) หมายถึง ฝิ่นที่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(1) ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่า ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดตามมาตรา 7
(2) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษตาม (1)
(3) กำหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษายาเสพติดให้ โทษ
(4) กำหนดจำนวนและจำนวนเพิ่มเติมซึ่งยาเสพติดให้โทษที่จะต้องใช้ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจำปี
(5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้
(6) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตามมาตรา 7 (3)
(7) จัดตั้งสถานพยาบาล
(8) กำหนดระเบียบข้อบังคับ เพื่อควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับสถานพยาบาล

มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมี น้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป

มาตรา 65 ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึง ห้าล้านบาท
มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณ ที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึง ห้าล้านบาท
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัม ขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 102 ทวิ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 2 ต่อศาล และไม่ได้มีการโต้แย้งเรื่องประเภท จำนวน หรือน้ำหนักของยาเสพติดให้โทษ ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ริบยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตามมาตรา 102 หรือตามกฎหมายอื่น และไม่มีคำเสนอว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำ ความผิดภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบยา เสพติดให้โทษนั้น ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US