สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข

สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
ภัยพิบัติที่เกิดแก่ทรัพย์สินที่ซื้อขายในสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขแม้เป็นสัญญาต่างตอบแทนแต่มิใช่เป็นสัญญมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งตามมาตรา 370 คือ มาตรา 370 ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 195 วรรคสองนั้นไป " ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินที่ซื้อขายสูญหายอันเป็นเหตุให้การชำระหนี้ของผู้ขายที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายตามสัญญซื้อขายมีเงื่อนไข เป็นอันพ้นวิสัยซึ่งจะโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ ต้องบังคับตามมาตรา 372 คือ มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดีหรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมาหรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้ " ผู้ขายซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้อันเป็นราคาทรัพย์ตอบแทนจากผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นโดยให้ผู้ซื้อจะต้องรับผิดชำระราคาแม้ทรัพย์สินที่ซื้อขายจะสูญหายไปก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2535

สัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและโจทก์ผู้ขายให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใด ยอมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีดังนี้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงกันไว้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลงและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าก่อนถึงกำหนดชำระราคางวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่า เป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วนเพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114 เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระให้โจทก์เต็มจำนวนตามสัญญา แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยมิได้กำหนดกันไว้ในสัญญาเหมือนเช่นเงินราคาค่ารถโจทก์จึงเรียกได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1ซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์ 1 คัน ราคา 788,248 บาท ชำระราคาครั้งแรก118,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระ 36 งวด งวดละเดือน เดือนละ 18,618บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระได้ 9 งวด แล้วไม่ชำระอีกจนกระทั่งรถถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่9 มิถุนายน 2529 โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัย 400,000 บาทโดยโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ไป 25,187 บาท เมื่อนำเงินประกันและเบี้ยประกันหักชำระราคาแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระราคาอยู่ 127,893 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่รถหายจนถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 139,060 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 127,873บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคาเงินผ่อนโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 14 ต่อปี จากราคาเงินสด 590,000 บาท รวมเป็นราคาเงินผ่อน 788,248 บาทเมื่อนำเงินประกัน 400,000 บาท และราคาที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วมาหักออกจากราคาเงินสด โจทก์จะได้รับเงินไปคุ้มกับราคารถแล้วหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดก็ไม่เกินราคาค่าเบี้ยประกัน 25,187 บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,238 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่6 ธันวาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การซื้อขายรถยนต์ตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 1ระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและผู้ขายให้ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาไว้จำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใดย่อมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีตามสัญญาซื้อขายข้อ 3จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลงและจำเลยที่ 3ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระราคารถยนต์งวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายข้อ 2 ระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน เพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114 เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาจนครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิด ไม่มีทางที่จะแปลสัญญาเป็นอย่างอื่นไปได้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระให้โจทก์เต็มจำนวน แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยมิได้กำหนดกันไว้ในสัญญาเหมือนเช่นเงินราคาค่ารถ โจทก์จึงเรียกได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น ทั้งเงินราคาค่ารถและเงินค่าเบี้ยประกันภัยโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1และที่ 3 ผิดนัด ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2529

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 102,686 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว และชำระเงินจำนวน 25,187 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 6ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 151 การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ
มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
(วรรคสอง)ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
(วรรคสาม)การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย

มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
(วรรคสอง)ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดีหรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมาหรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนไขเวลานั้น
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
(วรรคสอง)อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 869 อันคำว่า "วินาศภัย" ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอา ความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US