สิทธิขอกันส่วนที่ดินก่อนขายทอดตลาด | เจ้าของรวม | ขอให้ปล่อยทรัพย์

เจ้าของรวมที่ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินชัดเจนแล้วก่อนมีการบังคับคดี มีสิทธิที่จะขอกันส่วนของตนไม่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดได้ สำหรับคดีนี้โฉนดที่ดินได้บรรยายส่วนเจ้าของรวมไว้แล้วและได้แบ่งแยกกันครอบครองชัดเจน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะนำที่ดินออกขายทอดตลาดทั้งแปลงไม่ได้ เจ้ารวมมีสิทธิร้องขอกันส่วนและขอให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ในเรื่องการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดทั้งแปลงนั้นสามารถทำได้ในกรณีที่ทรัพย์ยังไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน (1) ฎีกาที่ 981/2494 การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดต้องเป็นกรณีอ้างว่าลูกหนี้ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ แต่ถ้าลูกหนี้เป็นเจ้าของรวม ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิครอบไปเหนือทรัพย์สินทั้งหมด(ทั้งแปลง) แต่ร้องขอกันส่วนได้ (2) ฎีกาที่ 744/2499 ร้องขัดทรัพย์ว่าตนได้กรรมสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจำนองไม่ได้ (3) ฎีกาที่ 1026/2504 ลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์รวม เจ้าหนี้มีสิทธิยึดที่ดินได้ทั้งแปลง และศาลย่อมจะขายได้ทั้งแปลง (4) ฎีกาที่ 938/2503 สินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งหลังการหย่า ผู้ร้องขัดทรัพย์จะอ้างการครอบครองเกิน 1 ปียันเจ้าหนี้ไม่ได้ (5) ฎีกาที่ 4895/2528 ลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจะขอให้ถอนการยึดและระงับการขายทอดตลาดไม่ได้ เมื่อไม่สามารถระบุได้ว่าลูกหนี้ได้ครอบครองเป็นสัดส่วนอย่างไร
ต่อไปเป็นกรณีที่เจ้าของรวมมีการแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าของรวมขอให้งดขายทอดตลาดส่วนของตนได้ (1) ฎีกาที่ 466/2506 ลูกหนี้กับผู้ร้องแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้งดการขาดดทอดตลาดส่วนของผู้ร้องและให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ได้ (2) ฎีกาที่ 2883/2528 เจ้าหนี้ผู้รับจำนองทราบดีว่า รับจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของลูกหนี้ เจ้าหนี้จะขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงโดยให้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอกันเงินในส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดครึ่งหนึ่งก็จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2551

ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่ผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
________________________________

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 21777 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 92 ตารางวา ของจำเลยและผู้ร้องเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับจำเลยได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนโดยชัดแจ้ง โดยผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์จำนวน 1,600 ส่วน เป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ผู้ร้องไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในหนี้ของจำเลย ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเฉพาะส่วนของผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับเลยยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้กันส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 21777 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะส่วนของผู้ร้องภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาท ออกจากการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์นำยึด

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขทื่ 21777 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 92 ตารางวา มีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ระบุส่วนของผู้ร้อง 1,600 ส่วน ใน 4,692 ส่วน ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมายเลข ร.1 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยซึ่งเป็นบิดาเนื่องจากจำเลยยกให้เมื่อปี 2538 โดยจำเลยยกที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันตกให้ผู้ร้องประมาณ 4 ไร่ ขณะยกให้ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นที่นา ที่ดินส่วนที่จำเลยยกให้คือส่วนที่อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาท ต่อมาผู้ร้องกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อใช้ในการถมที่ดินส่วนที่จำเลยยกให้โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน ผู้ร้องได้ถมที่ดินในส่วนดังกล่าว สูงกว่าระดับเดิมประมาณ 1 ศอก เพื่อปลูกพืชล้มลุก และเว้นที่ไว้ประมาณ 3 งาน เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา แต่ผู้ร้องไม่สามารถขุดบ่อได้เนื่องจากที่ดินส่วนนี้เป็นที่สำหรับทำนาปรังและถูกน้ำท่วม ผู้ร้องปลูกมะนาวในที่ดินส่วนที่ถมแล้ว 3 ปี หลังจากนั้นจึงให้นายประทีป เช่าที่ดินส่วนนี้เนื่องจากมะนาวที่ปลูกไว้ตายหมด ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยยังคงเป็นที่นาและจำเลยให้บุคคลอื่นเช่าทำนา ผู้ร้องกับจำเลยได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนโดยถือแนวที่ดินที่มีการถมเป็นแนวเขต เหตุที่ผู้ร้องและจำเลยไม่ได้รังวัดแบ่งแยกโฉนดเนื่องจากที่ดินพิพาทติดจำนองธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องเบิกความดังกล่าว ผู้ร้องมีจำเลยเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยยกที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ให้ผู้ร้อง หลังจากยกให้แล้วผู้ร้องได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาถมดินเพื่อทำไร่ และเว้นที่ไว้บางส่วนเพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลาแต่ขุดไม่ได้เนื่องจากมีน้ำท่วมขัง ปัจจุบันผู้ร้องให้นายประทีปเช่าที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของผู้ร้อง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยยังคงเป็นที่นาแต่จำเลยไม่ได้ทำนายเองเนื่องจากอายุมาก จำเลยให้นางเฉลิมเช่าทำนา และผู้ร้องมีนายประทีปเป็นพยานเบิกความยืนยันเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทว่า พยานเช่าที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันตกจากผู้ร้องมาประมาณ 4 ปี เสียค่าเช่าปีละ 5,000 บาท พยานเช่าที่ดินดังกล่าวเพื่อปลูกมะนาว ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยมีนางเฉลิม เป็นผู้เช่าทำนา นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมีนายจรูญซึ่งเป็นนายช่างผู้ไปทำการรังวัดทำแผนที่วิวาทตามเอกสารหมาย ร.2 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าที่ดินภายในกรอบสีเขียวซึ่งผู้ร้องนำชี้ว่าเป็นผู้ครอบครองเป็นที่ดินที่มีการถมแล้ว มีลักษณะเป็นที่ไร่ ส่วนที่ดินนอกเหนือจากนี้มีสภาพเป็นที่นาซึ่งจำเลยนำชี้ว่าเป็นผู้ครอบครอง ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ไร่มีการปลูกต้นกล้วยและต้นขนุนไว้ที่ขอบที่ดินทางทิศตะวันออก เห็นว่า พยานผู้ร้องเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญเกี่ยวกับลักษณะและที่ตั้งของที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องและจำเลยครอบครอง รวมทั้งการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ส่วนโจทก์มีเพียง ตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ผู้ร้องกับจำเลยยังไม่ได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นการเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของนายจรูญ พยานผู้ร้องที่ว่า ต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.3 เป็นต้นกล้วยที่ปลูกในที่ดินส่วนที่ผู้ร้องนำชี้ว่าเป็นผู้ครอบครอง ส่วนต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.4 เป็นของที่ดินข้างเคียงไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากตามภาพถ่ายหมาย ค.2 ที่โจทก์อ้างเห็นได้ว่าเป็นต้นกล้วยและต้นขนุนที่ขึ้นอยู่ขอบที่ดินพิพาทด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก มิได้ขึ้นเป็นแนวเขตแบ่งที่ดินผู้ร้องกับจำเลยดังที่นายจรูญเบิกความ และการที่นายจรูญดูภาพถ่ายหมาย ค.1 และ ค.2 แล้วเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าเป็นที่ดินพิพาทที่ไปรังวัดหรือไม่ และดูไม่ออกว่าสภาพที่ดินทั้งสองแปลงในภาพถ่ายดังกล่าวแปลงใดจะสูงกว่ากันเป็นการเบิกความที่ไม่เป็นกลางและมีพิรุธนั้น เห็นว่า แนวต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.3 อยู่ติดกับที่นา แต่แนวต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.4 อยู่ติดกับที่ดินที่มีการปลูกพืชอื่นซึ่งมิใช่ที่นา หากพิจารณาเฉพาะภาพถ่ายดังกล่าวเปรียบเทียบกันแล้วเห็นได้ว่ามิใช่แนวต้นกล้วยเดียวกัน ทั้งตามภาพถ่ายหมาย ค.2 ก็ไม่มีต้นกล้วยที่แสดงให้เห็นว่าปลูกเป็นแนวเขตที่ดินพิพาทกับที่ดินของบุคคลอื่นดังที่โจทก์อ้าง สำหรับแนวต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.4 ดังกล่าวนี้ได้ความจากนายประเทืองพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของจำเลยและผู้ร้องว่า เป็นแนวต้นกล้วยในที่ดินของนายยงค์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ร้อง เป็นคนละส่วนกับต้นกล้วยที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ร.3 ซึ่งเป็นของผู้ร้อง คำเบิกความของนายประเทืองในเรื่องนี้จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนายจรูญ ทั้งโจทก์เองก็เบิกความรับว่าที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันตกจดที่ดินนายประยงค์น่าเชื่อว่านายยงค์หรือนายประยงค์เป็นบุคคลเดียวกันส่วนที่นายจรูญดูภาพถ่ายหมาย ค.1 และ ค.2 แล้วเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าที่ดินในภาพถ่ายดังกล่าวเป็นที่ดินพิพาทที่พยานไปรังวัดหรือไม่ และสภาพที่ดินทั้งสองแปลงในภาพถ่ายหมาย ค.2 แปลงใดจะสูงกว่ากันพยานดูไม่ออกนั้น ก็ได้ความว่านายจรูญไปรังวัดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 แต่มาเบิกความเป็นพยานในคดีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2547 หลังจากไปรังวัดแล้วหลายเดือน ทั้งสภาพที่ดินที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ค.1 และ ค.2 ก็เห็นแต่แปลงเผือกเป็นส่วนใหญ่ซึ่งการปลูกเผือกนี้ได้ความจากนายประเทืองว่ามีการนำเผือกมาปลูกในที่นาของจำเลยด้วย และการทำไร่เผือกดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 เดือน น่าเชื่อว่ามีการปลูกเผือกสลับกับการทำนา เมื่อสภาพที่ดินเปลี่ยนเป็นไร่เผือกจึงอาจทำให้นายจรูญซึ่งพิจารณาสภาพที่ดินจากภาพถ่ายที่โจทก์ถ่ายมาดังกล่าวแล้วจำไม่ได้ว่าใช่ที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้จะมีภูเขาปรากฏอยู่ในภาพให้เป็นที่สังเกตหลายภาพก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นภาพถ่ายของที่ดินแปลงใดเพราะบริเวณด้านหน้าภูเขาดังกล่าวมีที่ดินอยู่หลายแปลง และสภาพของที่ดินในภาพถ่ายหมาย ค.2 ก็ไม่ชัดเจนพอที่จะบ่งบอกได้ว่าที่ดินแปลงใดสูงกว่ากัน คำเบิกความของนายจรูญจึงหาเป็นพิรุธไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้ร้อง จำเลย และนายประทีปเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการถมที่ดินพิพาทและการปลูกมะนาวมีพิรุธนั้น เห็นว่า ผู้ร้องถมที่ดินพิพาทเมื่อปี 2538 ซึ่งเวลาผ่านมานานแล้วหลายปี และขณะถมที่ดินก็ไม่ปรากฏว่านายประทีปได้รู้เห็นด้วย การที่นายประทีปเบิกความว่าผู้ร้องใช้เวลาถมดิน 3-4 เดือน ต่างจากคำเบิกความของผู้ร้องที่ว่าใช้เวลาเดือนเดียวนั้น จึงไม่ถึงกับเป็นพิรุธ สำหรับเรื่องการปลูกมะนาวของนายประทีป แม้นายประทีปเบิกความว่าปลูกมะนาวไม่ถึง 2 ปี แต่จำเลยเบิกความว่านายประทีปปลูกมะนาวมาประมาณ 3 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในเรื่องสาระสำคัญเพราะคำเบิกความของจำเลยและนายประทีปเป็นเพียงการกะประมาณเท่านั้นซึ่งอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าไม่ปรากฏต้นมะนาวในภาพถ่ายหมาย ร.3 , ร.4 , ค.1 และ ค.2 นั้น เห็นว่า ภาพถ่ายที่ผู้ร้องและโจทก์อ้างส่งศาลดังกล่าวถ่ายให้เห็นสภาพที่ดินพิพาทเพียงบางส่วนเท่านั้นมิได้ถ่ายให้เห็นที่ดินพิพาททั้งหมด ลำพังแต่ภาพถ่ายดังกล่าวยังชี้ชัดไม่ได้ว่าไม่มีการปลูกมะนาวในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์อ้าง พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1346 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน
( วีระชาติ เอี่ยมประไพ - เรวัตร อิศราภรณ์ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล )

หมายเหตุ

1.เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี แต่ทรัพย์นั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่น กรณีนี้อาจแยกกรณีได้ดังนี้
ก. กรณีทรัพย์นั้นยังไม่มีการแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2492 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 นั้น การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ต้องเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ยึด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นอยู่ด้วยศาลต้องยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ปล่อยการยึดเสีย เพราะกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือทรัพย์สินทั้งหมดจนกว่าจะมีการแบ่ง ผู้ร้องมีทางที่จะเรียกร้องขอแบ่งส่วนของตนตามสิทธิของเจ้าของรวมได้ในทางการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการเรียกขอให้แบ่งทรัพย์สินของผู้ร้องหรือเจ้าของรวมอื่นใดที่จะดำเนินต่อการบังคับคดีจากทรัพย์สินที่ยึดนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2499 การที่ผู้ร้องขัดทรัพย์อ้างว่าได้แบ่งที่ดินกับจำเลยเป็นส่วนสัดแน่นอนและต่างได้ครอบครองส่วนที่แบ่งกันมาเกิน 10 ปี แล้วนั้น ถือว่าผู้ร้องอ้างว่าตนได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมซึ่งโดยมาตรา 1299 วรรคสอง สิทธิของผู้ได้มาคือผู้ร้องหากยังมิได้จดทะเบียนแล้วจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกคือโจทก์ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วคือรับจำนองที่ดินตามโฉนดนี้ในส่วนของจำเลยไว้โดยมิได้เจาะจงว่าเป็นส่วนไหน ตอนใด หาได้ไม่

โจทก์เจ้าหนี้จำนองนำยึดที่ดินมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ การที่ผู้ร้องร้องคัดค้านว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องครึ่งหนึ่ง และผู้ร้องกับจำเลยได้แบ่งที่ดินกันครอบครองเป็นส่วนสัดแน่นอนเกินกว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงขอให้ขายที่ดินที่ยึดมาเฉพาะส่วนของจำเลยนั้น เมื่อข้ออ้างการแบ่งทรัพย์ของผู้ร้องจะยกขึ้นใช้ยันโจทก์ไม่ได้แล้วดังกล่าว ต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้ถูกยึดทรัพย์ย่อมครอบไปเหนือที่ดินทั้งหมด และการที่ผู้ร้องร้องขอให้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยก็ตาม ก็มีผลเท่ากับขอให้ปล่อยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจะต้องอ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์ที่ยึด ผู้ร้องจึงดำเนินคดีทางร้องขัดทรัพย์ไม่ได้โจทก์นำยึดที่ดินแปลงนี้ทั้งหมดได้ จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องในการเรียกขอให้แบ่งทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะดำเนินการบังคับคดีจากทรัพย์สินที่ยึดนั้นผู้ร้องย่อมมีทางที่จะเรียกขอให้แบ่งทรัพย์ส่วนของตนตามสิทธิของเจ้าของรวมได้ในทางการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2500 ในการบังคับคดีนั้น โจทก์มีสิทธินำยึดที่ดินซึ่งจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์เสียแต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ในการที่จะขอให้แบ่งทรัพย์สินอันเป็นส่วนของผู้ร้องขัดทรัพย์ต่อไปอีกส่วนหนึ่งก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะนำที่ดินนั้น ๆ ออกขายทอดตลาด เพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์ส่วนที่เป็นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2504 การยึดที่ดินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษากับผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์รวม โดยยังมิได้แบ่งกันเป็นส่วนสัดนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยึดได้ทั้งแปลงและศาลย่อมจะขายได้ทั้งแปลง เว้นแต่จะตกลงยินยอมกันให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ เพราะแม้แต่ในระหว่างเจ้าของรวมด้วยกันเองเมื่อไม่ตกลงแบ่งกันเองได้ ก็ต้องขายทั้งแปลงเช่นเดียวกัน (ป.พ.พ. มาตรา 1364) ฉะนั้น เจ้าของรวมจะยื่นคำร้องขอให้งดการขาย เพื่อไปแบ่งแยกกันเองเสียก่อน หรือขอให้ขายเฉพาะส่วนของลูกหนี้ไม่ได้ในเมื่อโจทก์ยืนยันขอให้ขายทั้งแปลง (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2504)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2503 ที่ดินที่โจทก์นำยึดนี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และในหนังสือหย่าระหว่างจำเลยกับผู้ร้องมีว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้แบ่งทรัพย์กันเพราะไม่สามารถแบ่งแยกได้ จึงตกลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสืบไปโดยให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายรักษาไว้ ที่ดินนี้จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องตกลงเป็นเจ้าของร่วมกันและจำเลยยังไม่ขาดสิทธิเรียกร้อง ผู้ร้องจะถือว่าได้สิทธิโดยการครอบครองเกิน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 185 ไม่ได้

โจทก์มีสิทธินำยึดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันผู้ร้องจะขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์นี้หาได้ไม่ คดียังไม่มีประเด็นว่าผู้ร้องจะมีส่วนได้ในที่ดินแปลงนี้เท่าใดและจะต้องรับผิดในหนี้สินรายนี้ด้วยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2504 สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเรือนที่โจทก์นำยึดในคดีที่สามีเป็นจำเลย ภริยาไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนการยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2515 ผู้ร้องกับสามีเป็นเจ้าของสวน 1 แปลง สามีของผู้ร้องตายไปโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกมรดกสวนของตนให้แก่ผู้ใดสวนส่วนที่เป็นของสามีของผู้ร้องจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนรวมทั้งผู้ร้องและจำเลยซึ่งเป็นบุตรด้วย แต่เมื่อสวนนี้ยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิที่จะยึดสวนนี้บางส่วนเพื่อขอชำระหนี้ได้ เพราะโจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้จนสิ้นเชิง ผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงเจ้าของร่วมกันหามีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2528 คำร้องของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านร่วมกับจำเลย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าว และจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ โจทก์ย่อมยึดทรัพย์นั้นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ได้ ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ขอให้ถอนการยึดและระงับการขาดทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวหาได้ไม่ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่า จำเลยได้ครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าจำเลยครอบครองที่ดินส่วนไหนจนได้กรรมสิทธิ์แยกไปจากที่ดินส่วนที่เป็นของผู้ร้อง อันจะแบ่งขายที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยโดยเฉพาะได้จำเลยยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับผู้ร้องอยู่ จึงไม่อาจแยกขายทอดตลาดที่ดินส่วนของจำเลยได้

แต่คำร้องของผู้ร้องเดียวกันในส่วนที่ขอให้กันเงินค่าขายที่ดินและบ้านให้แก่ผู้ร้องหากมีการขายทอดตลาดนั้น เป็นเรื่องขอให้ศาลกันส่วนของผู้ร้องในที่ดินและบ้าน หาใช่เป็นเรื่องร้องขัดทรัพย์ไม่ หากผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านร่วมกันจำเลยจริง เมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินและบ้าน ผู้ร้องก็มีสิทธิขอกันเงินค่าที่ดินและบ้านตามส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์ได้ ที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้โดยไม่ได้ไต่สวนคำร้องของผู้ร้องนั้น เป็นการไม่ชอบ จึงให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับการขอกันส่วนต่อไป

ข้อสังเกต คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง (1) ถอนการยึดและระงับการขายที่ดินส่วนของผู้ร้อง โดยให้ขายทอดตลาดเฉพาะส่วนของจำเลย (2) ถอนการยึดและระงับการขายทอดตลาดบ้านส่วนของผู้ร้องกึ่งหนึ่ง (3) ถ้าหากมีการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลง และบ้านทั้งหลัง ก็ให้กันเงินค่าขายที่ดินและบ้านให้แก่ผู้ร้องเป็นคำร้องที่อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 และ 288 ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ยกมาตรา 288 แต่ให้ไต่สวนคำร้องในส่วนมาตรา 287 แสดงว่าหากข้อเท็จจริงฟังได้ดังคำร้อง ศาลก็สามารถสั่งให้กันส่วนได้ นับเป็นความฉลาดในการดำเนินคดีของคู่ความหรือทนายความอย่างยิ่ง

ข. กรณีทรัพย์นั้นมีการแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2506 จำเลยและผู้ร้องซึ่งมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้ตกลงแบ่งแยกที่พิพาทกันโดยผู้ร้องได้ครอบครองอยู่ทางทิศเหนือเป็นส่วนสัดแล้วก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยนานแล้ว ข้อตกลงนี้ย่อมผูกมัดผู้ร้องและจำเลยตาม มาตรา 1364 เมื่อโจทก์ชนะคดีจำเลยและนำยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดส่วนของผู้ร้อง และให้ขายเฉพาะส่วนของจำเลยทางทิศใต้ได้เพราะโจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทนั้น ทั้งโจทก์ไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา 1299 วรรคสอง ไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาด ศาลชอบที่จะไต่สวนและมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดเฉพาะที่พิพาทตอนเหนือเฉพาะส่วนของผู้ร้องที่ครอบครองมา นอกนั้นให้ขายทอดตลาดต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2528 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นเจ้าของรวม ได้มีการแบ่งกันให้ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งทางทิศเหนือเป็นส่วนสัดมาตั้งแต่ได้รับการยกให้จากบิดา เมื่อโจทก์รับจำนองที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลย โจทก์ก็ทราบว่ารับจำนองเฉพาะที่ดินส่วนที่อยู่ทางทิศใต้ เช่นนี้ โจทก์จะยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงและให้ผู้ร้องคงมีสิทธิที่จะขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครึ่งหนึ่งก็จะไม่เป็นธรรม เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นอาจจะไม่ได้ราคา ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลกันที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือของผู้ร้องออกก่อนขายทอดตลาด ศาลจึงชอบที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดเฉพาะที่ดินส่วนด้านทิศใต้พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งติดกับแม่น้ำคิดเป็นเนื้อที่ครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ทั้งหมดได้

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2551 นี้ เป็นการวินิจฉัยตามแนวข้อ 1 ข. ข้างต้น แทนที่ผู้ร้องจะร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่ผู้ร้องกลับขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามมาตรา 288 ซึ่งตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาหากยื่นคำร้องเช่นนี้ ศาลก็มักจะสั่งยกคำร้องเสีย ส่วนในคดีนี้ศาลได้มีคำสั่งให้กันส่วนตามมาตรา 287 อันมิได้เป็นการสั่งตามคำร้องที่ขอ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะหากศาลสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ร้องให้ยื่นคำร้องขอกันส่วนตามมาตรา 287 เข้ามาใหม่ได้อยู่ดี ผู้เขียนเข้าใจว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา คงเห็นว่า ตามคำร้องพอแปลได้ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อให้ได้รับความรับรองสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมของผู้ร้อง เพียงแต่เพราะความบกพร่องทางเทคนิคที่กลับยื่นคำร้องใช้ถ้อยคำผิดพลาดจากที่ควรจะเป็น โดยใช้คำว่า "ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด" แทนที่จะใช้คำที่ถูกต้องว่า "ขอกันส่วนของผู้ร้อง" เมื่อศาลสั่งคำร้องตามสิทธิที่แท้จริงของผู้ร้องดังกล่าว จึงเป็นการสั่งตามความยุติธรรมอย่างแท้จริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของผู้ร้องและประชาชนให้ไม่ต้องล่าช้าเสียเวลาอีกต่อไป นับเป็นแนวบรรทัดฐานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ทวี ประจวบลาภ

มาตรา 1364 การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเอง ระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
(วรรคสอง)ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้

มาตรา 287 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ มาตรา 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับ เหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US