สิทธิเรียกร้องเงินดาวน์ | มูลละเมิด

เรียกร้องค่าเสียหายเงินดาวน์ในการเช่าซื้อตามมูลละเมิด
รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548

โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัท ต. โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัท ต. ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วนมิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้

โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ ส. ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของ ส. ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท ต. ได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 340,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 330,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้รับผิดเพียงไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 79,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อนายสวัสดิ์ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมา จากนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วน มิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้

การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ นายสวัสดิ์ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับไปจากบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1.
( สิทธิชัย รุ่งตระกูล - ปัญญา ถนอมรอด - ชวลิต ตุลยสิงห์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหาย อันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้ รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควร จะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตาม สัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอา ประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US