สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน

เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้ 2 วิธีคือโดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายและวิธีที่สอง เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2544

ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นวิธีที่สอง เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ ประการใดประการหนึ่งตามมาตรา 96ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 และในคดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ขาดอยู่ได้ ซึ่งเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป

การใช้สิทธิตามมาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหนี้มีประกันผู้เลือกใช้สิทธิตามมาตรา 95 ได้รับชำระหนี้หรือไม่ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 จึงไม่ถูกต้อง

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2530 คดีอยู่ระหว่างการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินจำนวน16 โฉนด ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ในขณะทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ 4 ประเภท คือ1. หนี้เงินกู้ (เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินไทยและเงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ)2. หนี้เงินกู้ระยะสั้น 3. หนี้ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 4. หนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทสยามราษฎร์ จำกัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านในมูลหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินไทย หนี้เงินกู้ระยะสั้นและหนี้ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) และเมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2531 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านในมูลหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทสยามราษฎร์ จำกัด อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 สำหรับคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 95นั้น ผู้คัดค้านมีหมายแจ้งคำสั่งลงวันที่ 13 กันยายน 2532 ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2541 ผู้ร้องได้รับหมายนัดลงวันที่ 2มิถุนายน 2541 จากผู้คัดค้านแจ้งว่าผู้ร้องเลือกใช้สิทธิตามมาตรา 96แล้ว ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 95 เสียทั้งสิ้นซึ่งผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านและให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 แล้ว ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอีกต่อไป ผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนดเวลาที่ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 91 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้อีกต่อไป คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) เท่านั้น คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เป็นคำสั่งที่ชอบ ส่วนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) นั้น ได้พิจารณาแต่เพียงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) มิได้พิจารณาถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกัน มีสิทธิที่จะเลือกใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 หรือมาตรา 96 เหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกันเพียงมาตราเดียว คือหากใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 แล้วก็ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ส่วนที่เหลือภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 เมื่อผู้ร้องยื่นคำขอครั้งที่ 2 หลังจากการยื่นครั้งแรกถึง 4 เดือน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้อีก ผู้คัดค้านอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้โดยเข้าใจข้อกฎหมายผิดหลงก็ย่อมมีสิทธิที่จะเพิกถอนได้คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินไทย หนี้เงินกู้ระยะสั้น และหนี้ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 3 รายการ อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) แล้วผู้ร้องจะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 2 รายการ อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 ได้หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น"มาตรา 96 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน(2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ (3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ (4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่..." บทบัญญัติของมาตราทั้งสองนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น ดังนี้ กำหนดเวลาให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 จึงไม่มี และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายวิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไขมาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในประการใดประการหนึ่งกล่าวโดยเฉพาะผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) ในกรณีนี้หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้และการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 บทบัญญัติทั้งสองมาตราแยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้นเมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไปที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐและหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 95 นั้น ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการต่อไปมีว่า การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 95 แล้วผู้คัดค้านจะเพิกถอนคำสั่งเดิมนี้ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ โดยมีหมายแจ้งคำสั่งลงวันที่ 13 กันยายน 2532 ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 50/2534 ของศาลอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 นั้นเสียซึ่งผู้ร้องฎีกาในข้อนี้ว่า คำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 ล่วงเลยมานานเกือบ 10 ปี และคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งเดิมนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งว่าให้ได้รับชำระหนี้หรือไม่แต่ประการใด ดังนั้น คำสั่งของผู้คัดค้านในคดีนี้ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 เมื่อวันที่ 13กันยายน 2532 จึงไม่ถูกต้อง แม้จะกลับมามีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่อนุญาตในภายหลังซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี คำสั่งของผู้คัดค้านในครั้งก่อนและในครั้งหลังจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมาย เพราะไม่ทำให้ผู้ร้องได้สิทธิหรือเสียสิทธิแต่ประการใดเมื่อผู้ร้องได้ใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายตามมาตรา 96 แล้วผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันสำหรับหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 95ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้น เมื่อวินิจฉัยมาดังนี้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องในปัญหาอื่นนอกจากนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีและไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย"
พิพากษายืน

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 96 เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
(2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US