หน้าที่จัดการทำศพ | ทายาทมีส่วนเท่ากันออกค่าใช้จ่าย

ส่วนของทายาททุกคนของผู้ตายต่างก็ต้องมีหน้าที่เท่า ๆ กันที่จะต้องจัดการทำศพของผู้ตาย เมื่อบิดาชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวได้จัดการทำศพของผู้ตายต้องเสียค่าใช้จ่าย ภริยาและบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทก็จะต้องร่วมรับผิดในค่าใช้จ่ายนี้ด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า บิดาไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้ภริยา และบุตรผู้ตายร่วมกันชำระหนี้ค่าจัดการทำศพให้บิดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2545

โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมมากที่สุด เมื่อผู้ตาย มิได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการศพ และทายาทก็มิได้มอบหมายให้บุคคลใดจัดการทำศพ โจทก์จึงมีอำนาจและหน้าที่จัดการศพผู้ตายตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จัดการศพไปแล้วย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดการศพจากกองมรดกได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1650 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253(2) ดังนั้น การที่โจทก์จ่ายเงินจัดการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 253(2) ประกอบมาตรา 1739(2)จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวตามส่วนแต่ต้องไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนายดาบตำรวจทวิช ทิพระษาหาร จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายดาบตำรวจทวิช ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นบุตรของนายดาบตำรวจทวิช เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 นายดาบตำรวจทวิชถึงแก่ความตาย โจทก์จัดการปลงศพของผู้ตายเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 160,000 บาทโจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสามชำระเงินคืนแก่โจทก์คนละ 40,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินคนละ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยแต่ละคนจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับพวกไม่เคยสัญญาว่าจะชำระเงินในการจัดการทำศพ การจัดการทำศพนายดาบตำรวจทวิชไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสาม แต่เป็นเพียงประเพณีที่บิดามารดา ภริยา และบุตรต้องจัดการงานศพ ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสามรวมทั้งญาติพี่น้องต่างช่วยเหลือค่าใช้จ่ายร่วมกัน โจทก์ออกเงินค่าทำศพเป็นความสมัครใจของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 กับพวกไม่มีหน้าที่ต้องใช้คืนแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมารดาของจำเลยที่ 2และที่ 3 หย่ากับนายดาบตำรวจทวิชผู้ตายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 2และที่ 3 มิได้กระทำละเมิดให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์สมัครใจจัดการทำศพเองและจัดเกินฐานานุรูป ค่าใช้จ่ายที่โจทก์กล่าวอ้างโจทก์กล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาว่าจะชำระค่าจัดการทำศพ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่แยกแยะว่าได้ใช้จ่ายเงินช่วยงานในเรื่องอะไร จำนวนเท่าใดและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินคนละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2541)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชำระหนี้ค่าจัดการทำศพให้โจทก์ และแม้จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์ด้วยก็ตามแต่การชำระหนี้ดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่านายดาบตำรวจทวิชทิพระษาหาร ผู้ตาย มีทายาทโดยธรรมคือโจทก์ซึ่งเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ตายมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการทำศพ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า แม้ผู้ตายจะมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการทำศพไว้หรือทายาทมิได้ตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตายก็ตาม แต่ทายาททุกคนของผู้ตายต่างก็ต้องมีหน้าที่เท่า ๆ กันที่จะต้องจัดการทำศพของผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1649 วรรคสอง เมื่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้จัดการทำศพของผู้ตายต้องเสียค่าใช้จ่าย จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทก็จะต้องร่วมรับผิดในค่าใช้จ่ายนี้ด้วยตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น และวรรคสองบัญญัติว่า ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพหรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตายไว้ตามลำดับดังนี้ คือผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งไว้ เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งผู้อื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการทำศพ ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพไว้โดยเฉพาะหรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการ เช่นนั้น ในเมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ดังนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยชอบธรรมมากที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศพผู้ตายนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อนึ่งปรากฏว่าผู้ตายมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือให้เป็นผู้จัดการทำศพ และทายาทผู้ตายก็มิได้มอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพโจทก์จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตายตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จัดการทำศพผู้ตายไปแล้วย่อมมีสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดการศพจากกองมรดกได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1650 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253(2) แห่งประมวลกฎหมายนี้" การที่โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้วโจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามบทกฎหมายข้างต้น ประกอบมาตรา 1739(2) จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทให้ร่วมรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวตามส่วน แต่รับผิดไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเช่นกัน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นอนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้อุทธรณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายเป็นจำนวนเกินสมควรและคดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247"
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการศพและคดีโจทก์ขาดอายุความตามรูปคดี
( วิบูลย์ มีอาสา - ศุภชัย ภู่งาม - วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 253 ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่ง อย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทั้งหมดของลูกหนี้ คือ
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
(2) ค่าปลงศพ
(3) ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ ทำให้แก่ ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้าง
(4) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน
มาตรา 1601 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอด ได้แก่ตน
มาตรา 1649 ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ใน อันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดย เฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวน มากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคล ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น

มาตรา 1650 ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำ ศพนั้นให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ใน มาตรา 253 (2) แห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าการจัดการทำศพต้องชักช้าไปด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลผู้มี อำนาจตามความใน มาตรา ก่อนกันเงินเป็นจำนวนอันสมควรจากสิน ทรัพย์แห่งกองมรดกเพื่อใช้ในการนี้ โดยให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใด คนหนึ่งร้องต่อศาลได้ในกรณีที่ไม่ตกลงหรือคัดค้านการกันเงินจำนวนนั้น
กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เงินค่าใช้จ่ายหรือเงินที่กันไว้อันเกี่ยว กับการจัดการทำศพนั้น ให้กันไว้ได้แต่เพียงจำนวนตามสมควรแก่ ฐานะในสมาคมของผู้ตาย แต่จะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสิทธิของ เจ้าหนี้ของผู้ตาย
มาตรา 1739 ให้ชำระหนี้ที่กองมรดกค้างชำระตามลำดับต่อไปนี้ และตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยบุริมสิทธิ โดยไม่ต้อง ไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่บรรดาเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิพิเศษ ตามประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นและบรรดาเจ้าหนี้ที่มีประกันโดยการ จำนำหรือการจำนอง
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก
(2) ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก
(3) ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่
(4) ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้และคนงาน
(5) ค่าเครื่องอุปโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก
(6) หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก
(7) บำเหน็จของผู้จัดการมรดก

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US