เลิกจ้างไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือ | ค่าชดเชย

เลิกจ้างโดยไม่ได้ตักเตือนก่อนเป็นหนังสือต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่โจทก์พิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่ผู้สมัครโดยได้อนุมัติก่อนที่จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 4 และไม่ได้ตรวจสอบสถานะของผู้สมัครและเอกสารของผู้สมัครว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องหรือไม่นั้น เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายธวัชชัยกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและนางศิริรัตน์ผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานและไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดหรือรับผลประโยชน์จากผู้ใด จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว โดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์ก่อนเป็นหนังสือ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์โดยอ้างว่า โจทก์ได้ใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่น โดยร่วมกับนางมณีและนางสมบูรณ์ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำความผิดอาญาต่อนายจ้างนั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า โจทก์อนุมัติบัตรให้แก่ผู้สมัคร 29 รายโดยมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ใด และโจทก์ไม่ได้ทำปลอมหรือร่วมกันทำปลอมและใช้เอกสารหนังสือรับรองรายได้หรือเงินเดือนปลอมของผู้สมัครทั้ง 29 ราย ถือเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่สมาชิกได้อนุมัติบัตรเครดิตให้แก่สมาชิกที่นางสมบูรณ์เป็นผู้แนะนำ โดยนางสมบูรณ์ได้ค่าแนะนำ แล้วมีการโอนเงินจากนางสมบูรณ์ให้แก่โจทก์จำนวน 2 ครั้ง ดังกล่าว แม้จะไม่ได้ความชัดว่าเป็นเงินส่วนแบ่งจากการแนะนำสมาชิกบัตรเครดิต แต่พฤติกรรมของโจทก์มีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้ทำงานต่อไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2548

โจทก์เป็นลูกจ้างฝ่ายบัตรเครดิตของจำเลย มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พิจารณาสินเชื่อ มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติวงเงินให้แก่ผู้สมัครบัตรเครดิต การที่โจทก์พิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่ผู้สมัคร โดยได้อนุมัติก่อนที่จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานของฝ่ายอนุมัติบัตร และไม่ได้ตรวจสอบสถานะของผู้สมัครและเอกสารของผู้สมัครว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องหรือไม่ เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและ ศ. ผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้าของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์ก่อนเป็นหนังสือ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 แต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยดังกล่าว เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 27,347.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 273,475 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 271,447 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 355,517.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 273,475 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้า 27,347.50 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 275,000 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของนายจ้างจำนวน 191,447 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์พิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่ผู้สมัครโดยได้อนุมัติก่อนที่จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 4 และไม่ได้ตรวจสอบสถานะของผู้สมัครและเอกสารของผู้สมัครว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องหรือไม่นั้น เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายธวัชชัยกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและนางศิริรัตน์ผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานของโจทก์เนื่องจากจำเลยได้กำหนดเป้าหมายผู้สมัครบัตรเครดิตในปี 2544 จำนวน 300,000 บัตรและปี 2545 จำนวน 500,000 บัตร โดยโจทก์และพนักงานต้องพิจารณาอนุมัติถึงจำนวน 500 ราย ต่อวันต่อคน และไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดหรือรับผลประโยชน์จากผู้ใด จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว โดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์ก่อนเป็นหนังสือ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 แต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสุดท้าย ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์โดยอ้างว่า พยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่น โดยร่วมกับนางมณีและนางสมบูรณ์ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำความผิดอาญาต่อนายจ้างนั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า โจทก์อนุมัติบัตรให้แก่ผู้สมัคร 29 รายโดยมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ใด และโจทก์ไม่ได้ทำปลอมหรือร่วมกันทำปลอมและใช้เอกสารหนังสือรับรองรายได้หรือเงินเดือนปลอมของผู้สมัครทั้ง 29 ราย ถือเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่สมาชิกได้อนุมัติบัตรเครดิตให้แก่สมาชิกที่นางสมบูรณ์เป็นผู้แนะนำ โดยนางสมบูรณ์ได้ค่าแนะนำ แล้วมีการโอนเงินจากนางสมบูรณ์ให้แก่โจทก์จำนวน 2 ครั้ง ดังกล่าว แม้จะไม่ได้ความชัดว่าเป็นเงินส่วนแบ่งจากการแนะนำสมาชิกบัตรเครดิต แต่พฤติกรรมของโจทก์มีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้ทำงานต่อไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
( รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - พิทยา บุญชู )

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่าย หนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราว ถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตาม มาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้าง ให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอก กล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตาม มาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตาม มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และ มาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มาตรา 54 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น คำ พิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมาย ไปยัง ศาลฎีกาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
การอุทธรณ์นั้น ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลแรงงานซึ่งมีคำพิพากษาหรือ คำสั่ง และให้ศาลแรงงานส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในเจ็ดวันนับ แต่วันที่ฝ่ายนั้นได้รับสำเนาอุทธรณ์
เมื่อได้มีการแก้อุทธรณ์แล้ว หรือไม่แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตาม วรรคสองให้ศาลแรงงานรีบส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
STILL NOT SURE WHAT TO DO?
We are glad that you preferred to contact us. Please fill our short form and one of our friendly team members will contact you back.
Form is not available. Please visit our contact page.
X
CONTACT US